Search
Search

Samsung จากบริษัทส่งออกปลาแห้ง เป็นผู้นำในโลกเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และแหล่งรวม Tech Talents จากทั่วโลก

Samsung เดิมเป็นบริษัทส่งออกปลาแห้งที่ผันตัวมาเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ผู้คนทั่วโลกใช้กัน และกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีมูลค่าบริษัท 15 ล้านล้านบาท รายได้ 6.8 ล้านล้านบาท และปัจจุบันมีสินค้าและบริการกว่า 80 ธุรกิจ

Samsung ก่อตั้งเมื่อปี 1938 โดยคุณ Lee Byung-chul เริ่มแรกเป็นบริษัทส่งออกปลาแห้งและทำธุรกิจซื้อมาขายไปขนาดย่อมเยา ก่อนขยายไปธุรกิจสิ่งทอ อาหาร ค้าปลีก ประกัน และเข้าสู่อุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ เช่น การต่อเรือ การก่อสร้าง อาวุธทางการทหาร แต่ธุรกิจที่ทำให้ Samsung มีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้ก็คือ ธุรกิจ “อิเล็กทรอนิคส์” และทำให้ในปี 1969 Samsung ขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ทั่วโลกยอมรับ และมีถึงกว่า 80 ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลก แต่หากนับแค่เฉพาะ Samsung Electronics ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทที่ใหญ่ที่สุด ยังแบ่งได้ถึง 4 Divisions ด้วยกัน ประกอบด้วย

  • Digital media
  • Semiconductor
  • Telecommunication network
  • LCD digital appliances

Samsung ถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ของธุรกิจที่รัฐบาลเกาหลีใต้หวงแหนภายใต้นโยบาย Protectionism

หลังแยกประเทศ เกาหลีใต้ดำเนินเศรษฐกิจแบบ “Protectionism” โดยมีภาครัฐปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างชัดเจน กีดกันการค้าจากบริษัทใหญ่ข้ามชาติ เพื่อให้หลายบริษัทเกาหลีใต้ที่พึ่งตั้งไข่ มีเวลาในการสะสมองค์ความรู้พัฒนาตัวเอง ก่อนออกไปสู้ในระดับโลก Protectionism ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลก (และมีการค้าแบบเสรีในปัจจุบัน) ล้วนเคยผ่านช่วงเวลานี้มาแล้วทั้งสิ้น

  • เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ทศวรรษที่ 1950s
  • เกิดขึ้นในอเมริกา กลางศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20
  • เกิดขึ้นในอังกฤษ ต้น-กลางศตวรรษที่ 19

Samsung ไม่เพียงเป็นธุรกิจที่ถูกปกป้องเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ภาครัฐ “หยิบเลือก” ให้เป็นหัวหอกในการนำพาไปสู่ประเทศชั้นนำ ซึ่งต่อมา กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ที่ถูกภาครัฐอุ้มชู เรียกว่ากลุ่ม “แชโบล” (Chaebol)10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มแชโบล มีมูลค่าถึง 50% ของตลาดหุ้นในเกาหลีใต้

ในจำนวนนี้ Samsung บริษัทเดียว มีมูลค่าคิดเป็นถึง 1/3 ..กล่าวได้ว่า ช่วงทศวรรษ 1960s การเติบโตของ Samsung และสภาพการแข่งขันในตลาดไม่ได้เป็นไปแบบธรรมชาติ (Organic) แต่มีบทบาทของภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วย

Lee Kun-Hee ผู้นำที่นำพา Samsung สู่บริษัทชั้นนำระดับโลกด้วย 3 จุดแข็ง

การมีผู้นำที่มองการณ์ไกลของ Samsung อย่าง Lee Kun-Hee ซึ่งเป็นผู้นำพา Samsung ในช่วงเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ระดับโลกในช่วงทศวรรษ 1990s ได้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานให้กับ Samsung เติบโตอย่างแข็งแรงตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเขาได้เน้นย้ำถึงปัจจัยที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ 3 อย่าง ได้แก่

  1. นวัตกรรมและเทคโนโลยีอันล้ำหน้าที่เหนือกว่าคู่แข่ง
  2. งานดีไซน์ระดับโลก
  3. แหล่งรวมคนทำงานระดับหัวกะทิจากทั่วโลก

BEST-IN-CLASS INNOVATION & TECHNOLOGY

คุณภาพต้องมาก่อนภาพลักษณ์ Samsung ใช้งบถึง 9% ในการทำ R&D กับพนักงาน 50,000 คนใน 42 ศูนย์วิจัยและพัฒนา

Samsung รู้ดีว่าผู้คนมีภาพจำที่ดีต่อ Sony ผ่านนวัตกรรมอย่าง Sony Walkman และ PlayStation ตามความเชื่อที่ว่า “คุณภาพสินค้า ต้องมาก่อน ภาพลักษณ์องค์กร” ในยุคแรก Samsung จึงเริ่มต้นด้วยการยอมรับในความด้อยกว่าของตัวเอง ก่อนจะเลือกคู่แข่งซึ่งเป็นผู้นำในวงการขณะนั้นอย่าง Sony เป็นต้นแบบ และพยายามเลียนแบบแต่ทำให้เหนือกว่า (Emulation) และถ้า Samsung ทำได้สำเร็จ ก็น่าจะช่วยให้ภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้น และง่ายต่อการสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่า

แต่การจะมีนวัตกรรมในวงการนี้ได้ เบื้องหลังต้องมาพร้อมงบ “R&D” มหาศาล Samsung จึงได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการค้นคว้าวิจัยตั้งแต่นั้นมา Samsung มีพนักงานทั่วโลก 320,000 คน เฉพาะพนักงานด้าน R&D ก็มีมากถึง 50,000 คน ประจำอยู่ในกว่า 42 ศูนย์วิจัยไฮเทคทั่วโลก และลงทุนในงบ R&D คิดเป็น 9% ของรายได้ทั้งหมด โดยหวังว่า R&D จะค่อยๆ สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับ Samsung

  • ปี 2014 ใช้งบ R&D กว่า 420,000 ล้านบาท
  • ปี 2020 ใช้งบ R&D กว่า 607,000 ล้านบาท

ทำให้ในปี 2020 สิทธิบัตร (Patent) ที่จดทะเบียนในอเมริกามีถึงกว่า 6,000 สิทธิบัตร และ Samsung มีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอเมริกา รองจาก IBM

  • ปี 1993 ผลิตชิปหน่วยความจำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ปี 2006 ผลิต TV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ปี 2010 เปิดตัวโทรทัศน์ 3 มิติรุ่นแรกของโลก
  • ปี 2011 บริษัทผลิตสมาร์ตโฟนที่มีรายได้มากที่สุดในโลก
  • ปี 2013 เปิดตัวโทรทัศน์ จอโค้งรุ่นแรกของโลก
  • ปี 2018 เปิดตัวโทรทัศน์ ความชัดระดับ 8K

R&D ยังรวมไปถึงชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ในเครื่อง แม้แต่ iPhone หลายรุ่นในปัจจุบัน ก็ใช้หน้าจอ OLED ที่สั่งมาจาก Samsung

จุดเปลี่ยนสำคัญบริษัทในแง่ผลตอบรับสินค้า คือการเปิดตัว Samsung Galaxy S ในปี 2010 และ Samsung Galaxy Note ในปี 2011ซึ่งสร้างยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างจุดยืนภาพลักษณ์ใหม่ว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกได้สำเร็จ

WORLD-CLASS DESIGN

ผลงานของ Samsung ต้องเป็นงานดีไซน์ระดับโลกเท่านั้น เปิดตัว Innovation Design Lab

ปี 1993 Samsung จัดตั้ง Innovative Design Lab (IDL) เป็นหน่วยงานภายในองค์กรเอง โดยมีประธาน Lee Kun-Hee เป็นผู้สนับสนุนและรายงานโดยตรง แลปนี้คือเบื้องหลังงานออกแบบของ Samsung ซึ่งจะศึกษาเชิงลึกในหลากหลายศาสตร์เพื่อผนวกเข้ามากับการสร้างผลิตภัณฑ์จริง

  • งานออกแบบที่คำนึงถึงสรีระร่างกาย (Ergonomics)
  • วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical engineering)
  • ปรัชญาของงานประติมากรรม (Philosophy of Sculpture)
  • ศิลปะและวัฒนธรรมของผู้คน (Arts & Culture)
  • การใช้วัสดุรีไซเคิล (Recycled materials)

การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ของ Samsung ไม่ใช่แค่ความสวยงามภายนอก แต่ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาผู้บริโภคจากหลากหลายประเทศทั่วโลก นั่นทำให้ Samsungรู้ดีว่า Pain Point และความต้องการของผู้คนคืออะไร และคิดย้อนกลับสร้างผลิตภัณฑ์ให้แก้ปัญหาลูกค้าเราเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ Samsung ที่หลากหลายเหลือเกิน ครอบคลุมแทบทุกความต้องการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ต้องไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคด้วย เพราะเข้าใจความต้องการผู้บริโภค จึงเกิดเป็น Samsung TV The Wall Luxury เจาะกลุ่มเศรษฐี (ราคา 13.9 ล้านบาท) และผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • Galaxy A Series ราคาย่อมเยา เน้นฟังก์ชั่นใช้งาน
  • Galaxy S เน้นถ่ายภาพ ดีไซน์โดดเด่น ทันสมัย
  • Galaxy Note ที่เหมาะกับคนทำงาน เน้นประสิทธิภาพในการทำงานเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดย่อม
  • Knox เน้นความปลอดภัยสูงสุด ยากต่อการโจรกรรมข้อมูล

ปัจจุบัน Samsung ยังคงเป็นผู้นำสินค้าไฮเทค ดูได้จากการเปิดตัวสินค้าใหม่สุดไฮเทคอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Samsung QLED 8K Samsung BESPOKE Refrigerators ตู้เย็นอัจฉริยะ หรือ Samsung AI Eco Bubbles เครื่องซักผ้าระบบ AI ปี 2019 และมียอดขาย Smartphone ทั่วโลกอยู่ที่ 1,370 ล้านเครื่อง โดยมี Samsung เป็นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 296 ล้านเครื่อง (ราว 21.6%)

TOP TALENTS COMMUNITY

ภารกิจเปลี่ยน Samsung ให้เป็นบริษัทที่เป็นแหล่งรวมหัวกะทิจากทั่วโลก พร้อมปรับวัฒนธรรมองค์กร

บริษัทที่เป็นแหล่งรวมหัวกะทิ และการสร้างแบรนด์ภายในองค์กรถือเป็นการเบนเข็มมุ่งสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกของ Samsung พร้อมแคมเปญระดับโลกตัวแรก “Challenge the Limits”

นอกจากนี้ Samsung ยังปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กร เปลี่ยนจากการจ้างงานตลอดชีพ มาเป็นมุ่งเน้นที่ผลงานแทน (Result-Based) เพื่อดึงดูดคนเก่งๆ รุ่นใหม่ให้มาร่วมสร้างฝันให้เป็นจริงอีกด้วย

Samsung คือ ตัวอย่างเรื่องราวที่น่าสนใจของบทบาทภาครัฐที่มีส่วนช่วยพยุงบริษัทในประเทศ และจากจุดเริ่มต้นที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจปัจจุบัน แต่เมื่อตั้งตัวได้และสร้าง “วิสัยทัศน์” อันกว้างไกลและครบเครื่องทั้งนวัตกรรม ดีไซน์ และคน ก็สามารถขึ้นเป็นผู้นำบริษัทไฮเทคชั้นนำของโลกได้สำเร็จ

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ทำงานเยอะ ไม่อยากเสียสมดุลชีวิต มาลองทำตามวิธีเหล่านี้

เชื่อว่าหลายคนต้องประสบพบเจอปัญหา “ทำงานหนักจนไม่มีเวลาชีวิต” บางคนไม่ได้ทำงานแค่ 5 วัน แต่ยังต้องเอางานที่ทำไม่เสร็จมาทำเสาร์อาทิตย์อีก แล้วสุดท้ายวันหยุดของเราอยู่ไหนกัน?

5 รูปแบบพนักงาน ที่มักจะโดนเพื่อนร่วมงานเกลียด

เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเราถึงไม่มีเพื่อนในที่ทำงาน หรือคนรอบตัวแสดงความรู้สึกไม่ค่อยอยากทำงานกับเราสักเท่าไร
มาลองเช็กว่ากำลังเป็นแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า

จัดการปัญหา แก้ไขทุกวิกฤติด้วย Fink’s Crisis Management Model

ชีวิตการทำงานของทุกคนคงไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ยิ่งต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย หลายทีม ยิ่งมีปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้การตั้งรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น และผ่านมันไปให้ได้เสมอ