Search
Search

รวิศ หาญอุตสาหะ จากมนุษย์เงินเดือน สู่ไอดอลของนักธุรกิจ

หลายคนรู้จัก คุณรวิศ หาญอุตสาหะในฐานะ “เจ้าพ่อคอนเทนต์” ที่เราสามารถรับฟัง-อ่าน-เสพได้ทุกวัน แต่ตัวเค้าเองยังเป็นผู้บริหารแบรนด์ศรีจันทร์ที่สร้างปรากฎการณ์รีแบรนด์จนสำเร็จและพาแบรนด์โกอินเตอร์จนเป็นกรณีศึกษา ทั้งๆ ที่ไม่มีแบคกราวด์ด้านการตลาด และไม่เคยบริหารองค์กรเลยเพราะก่อนหน้านั้นก็เป็นพนักงานออฟฟิศมนุษย์เงินเดือน จากมนุษย์เงินเดือน…สู่นักธุรกิจที่สำเร็จ จากนักธุรกิจ…สู่นักบริหารชีวิตที่เป็นไอดอลของใครหลายคน เคสของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ จึงน่าสนใจไม่น้อย…

ชีวิตไปต่อได้เพราะบริหารเวลาเป็น

 

อย่างที่เราน่าจะพอรู้กัน คุณรวิศทำหลายอย่างเอามากๆ ทั้งงานผลิตภัณฑ์ที่ศรีจันทร์ งานสื่อ Mission To The Moon งานอีเวนต์ขึ้นบรรยายยตามที่ต่างๆ เรื่องแพชชั่นส่วนตัวอย่างการวิ่งออกกำลังกาย ไหนจะต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวให้ดีเยี่ยมอีก แต่เรายังเห็นคุณรวิศไปสุดได้สำเร็จทุกทาง

 

เบื้องหลังที่ทำได้นี้ไม่ใช่ความลับ แต่เป็นแค่การ “บริหารเวลา” ให้ได้อย่างดีเยี่ยม มีวินัย วางแผนอย่างรอบคอบ และต้องเมคเซนส์ทำได้จริง Time Management เป็นสกิลที่เป็นระดับผู้บริหาร-เจ้าของธุรกิจ-หัวหน้างานแบบเราๆ จำเป็นต้องมี สกิลคือทักษะ ทักษะแปลว่าฝึกฝนกันได้ 

 

วิธีของคุณรวิศเริ่มจากการยอมรับความจริงก่อนว่า คนเรามีเวลาจำกัด ไม่สามารถทำทุกเรื่องด้วยตัวเองได้หรอก Mindset นี้ยังเป็นการเผื่อพื้นที่ว่างทางใจสำหรับความล้มเหลวเวลางานไม่เสร็จตามเดตไลน์ ทำให้ไม่เครียดหรือซ้ำเติมตัวเองเกินไป 

 

  • คุณรวิศจะเริ่มจากจัดเรียงลำดับความสำคัญ (Prioritize) อย่างเป็นระบบ 
  • ตัดทิ้งเรื่องไม่สำคัญทิ้งไป นำเรื่องไม่เร่งด่วนไปต่อคิวข้างหลัง 
  • ก่อน assign งานบางส่วนให้ลูกทีมดูแล 
  • และดึงตัวผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในเรื่องที่เป็นจุดอ่อน 
  • ส่วนตัวเองไปโฟกัสที่จุดแข็งที่ทำได้ดี 

 

และพื้นฐานสำคัญที่สุดที่จะไม่ประนีประนอมคือ “คุณภาพการนอนหลับ” เพราะการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ สุขภาพร่างกายต้องพร้อมก่อน

 

ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้วอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดขาด การยอมรับข้อด้อยข้อจำกัดของตัวเอง การเฟ้นหาคนเก่งรอบตัว และต้องมีวินัยสุดๆ กับตัวเอง

 

อ่าน อ่าน อ่าน

 

“ผมตัดสินใจ Rebranding ศรีจันทร์จากการอ่านหนังสือ” คุณรวิศเคยพูดไว้

 

เขามีนิสัยเปิดกว้างการอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก แต่มาอ่านจริงจังตอนโต โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนงานจากมนุษย์เงินเดือน มาสานต่อธุรกิจครอบครัว 

 

คุณรวิศจบด้านวิศวกรรม แต่ต้องดูแลด้าน Marketing เป็นหลัก ซึ่งตอนนั้นเขาไม่มีความรู้ด้านนี้เท่าไรเลย สิ่งเดียวที่ทำได้คือ อ่าน อ่าน อ่าน…อ่านมันเข้าไป โดยเฉพาะด้านการตลาด การโฆษณา บริหารธุรกิจ จิตวิทยา เรียกว่าทุกด้านที่ส่งเสริมกันและกัน

 

ความน่าสนใจคือ คุณรวิศมีนิสัย “จดบันทึก” สิ่งที่อ่าน เวลาเจอประโยคโดดๆ ตัวอย่างเด็ดๆ จะขีดเขียนลงบนหน้าหรือบันทึกเก็บไว้ ใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่จดจะกลายมาเป็น asset ให้เขาหยิบใช้ต่อยอดในอนาคต

 

หนังสือ What I Wish I Knew When I Was 20 คือเล่มแรกที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขากล้า Rebranding ศรีจันทร์ หนังสือกระตุ้น mindset ของการคิดค้นนวัตกรรม เปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ มองความผิดพลาดล้มเหลวเป็นขั้นบันไดสู่ความสำเร็จ เราจึงเห็นศรีจันทร์ transform สู่แบรนด์ยุคใหม่ในทุกเรื่องทั้งหน้าบ้าน-หลังบ้าน แทบไม่เหลือเค้าโครงแบรนด์เก่าแก่อายุหลายทศวรรษอีกเลย

 

เขายังชื่นชมหนังสือ Predatory Thinking ของ Dave Trott ที่เล่าเรื่องการโฆษณาและประวัติศาสตร์ด้วยภาษาที่เท่และเข้าใจง่าย ซึ่งคุณรวิศได้ปรับมาใช้กับการทำ Storytelling ในธุรกิจด้วย

 

พอมาทำพอตแคสท์ Mission To The Moon ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าการอ่านหนังสือกลายเป็นวัตถุชั้นเลิศในการนำย่อยและตกผลึกเล่าให้ผู้ฟังแบบเราอีกที สิ่งที่เขาเคยจดบันทึกไว้หลายอย่างก็ถูกนำมาประกอบร่าง เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นคอนเทนต์ที่น่าติดตาม จนขึ้นแท่นพอตแคส์อันดับต้นๆ ของประเทศ ก่อนขยายเป็นอาณาจักรสื่อ ขยายไปทุกช่องทางโซเชียล และแตกแบรนด์ย่อย เช่น 5 Minutes / Mission Daily Report / และล่าสุด New You

 

ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน จะเขียนได้ดี…ต้องอ่านมาเยอะ เมื่ออ่านเยอะถึงจุดหนึ่ง สกิลการเขียนก็อัพเกรดขึ้นตาม จนคุณรวิศสามารถออกหนังสือเป็นของตัวเองได้ เป็นช่องทางสร้างการรับรู้ตัวตน CEO Branding แบบเชิงลึก และทำหน้าที่เป็น “นามบัตร” ในตัวมันเองเวลามีนักธุรกิจอยากแกะความคิดทำความรู้จัก หนังสือสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ดีเยี่ยม จนเปิดประตูอีกบานสู่การเป็นวิทยากรแถวหน้าของประเทศ มีการจัดงานอีเวนท์ใหญ่ทุกปี เช่น Mission To The Moon Forum

 

ส่วนงานที่บริษัท เขาถึงกับออกแบบสวัสดิการที่ศรีจันทร์ โดยให้งบพนักงานไปซื้อหนังสือฟรี 1 เล่มทุกเดือน ส่งเสริมการอ่านและอ้พสกิลทางความคิดให้ทีมไปต่อได้

 

จาก Productivity geek สู่ชายที่ทำงานโดยใส่ใจด้านอื่นมากขึ้น

 

“ผมยอมรับว่าผมเคยคิดผิดไป” เรามักคิดว่าเราเป็น CEO แล้วจะขอโทษไม่ได้ การขอโทษเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่คุณรวิศไม่คิดเช่นนั้น เมื่อผิดต้องกล้ายอมรับ และยอมรับว่าแบบเปิดเผยตรงไปตรงมา เพราะไม่มีอะไรเพอเฟกต์ ตัวเขาเองก็ผิดได้

 

เขาเคยมีชุดความคิดว่า การที่พนักงานคนหนึ่งล้มเหลวกับชีวิตหรือการทำงาน ไร้สกิล บริหารเวลาไม่เป็น การเงินย่ำแย่ อารมณ์แปรปรวน เป็นเพราะปัญหาเชิงปัจเจกที่มาจากเจ้าตัวเอง 

 

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 เขาเองได้ออกมาช่วยเหลือผู้คนจนได้ปะทะพบเจอกับโลกอีกสังคมหนึ่งที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การขาดโอกาสตั้งแต่เด็ก ทำให้เขายอมรับว่าตัวเองคิดผิด และมองเรื่องนี้ว่าเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง”

 

เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่ CEO จะออกมายอมรับผิด และนี่คือสิ่งที่คุณรวิศกล้าทำ

 

แนวคิดการทำงานแบบหัวสมัยใหม่

 

ในวัยเลข 4 แม้จะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ซะทีเดียวในเชิงตัวเลขอายุ แต่คุณรวิศยังมีมุมมองการทำงานที่ถูกจริตคนรุ่นใหม่และโลกสมัยใหม่ไม่น้อย 

 

อย่างเช่น เขามองว่าทีม Marketing ควรวางแผนแต่พอเหมาะ ไม่ต้องเยอะมาก ไม่ต้องประดิษฐ์สไลด์พรีเซนท์ให้สวยเลิศอะไร แต่ควรออกไปรับฟังให้มาก ออกไปคุยกับลูกค้าตัวจริงให้เยอะดีกว่า เพราะนั่นคือ Insights ที่มีประโยชน์จริงๆ

 

ทำงานแบบ flexible & resilient เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ work from home เต็มรูปแบบสมัยโควิดใหม่ๆ และปรับตัวไปตามสภาพการณ์โดยไม่ยึดติดความสำเร็จเดิมๆ

 

หรือการ attract & retain พนักงานเก่งๆ ด้วยการคิดนโยบายสวัสดิการเจ๋งๆ เช่น 

  • ลาคลอด 180 วัน 
  • ลาไปผ่าตัดแปลงเพศ 
  • ฟรีค่าฟิตเนสออกกำลังกาย 
  • ให้งบพนักงานไปซื้อหนังสือฟรี 1 เล่มทุกเดือน 

 

สวัสดิการเจ๋งๆ แบบนี้ยังไวรัลทำหน้าที่ PR ให้บริษัทไปในตัว

 

แนวคิดการใช้ชีวิต-การทำงานของ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ มี core value ที่ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ว่าจะการบริหารเวลา การยอมรับผิด การเปิดกว้างสิ่งใหม่ๆ แต่เขาดันแท่งบาร์ขึ้นไปให้สุด ทำแบบลงลึกแอดวานซ์ และมีวินัยทำต่อเนื่องมากพอ (เช่น ลงพอตแคสต์ทุกวันติดต่อกันมา 4-5 ปีแล้ว)

 

นี่ก็เป็นสิ่งที่คนระดับหัวหน้างาน-ผู้บริหาร น่าจะเริ่มต้นทำได้ไม่ยาก…และเริ่มได้เดี๋ยวนี้เลย!

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ทำงานเยอะ ไม่อยากเสียสมดุลชีวิต มาลองทำตามวิธีเหล่านี้

เชื่อว่าหลายคนต้องประสบพบเจอปัญหา “ทำงานหนักจนไม่มีเวลาชีวิต” บางคนไม่ได้ทำงานแค่ 5 วัน แต่ยังต้องเอางานที่ทำไม่เสร็จมาทำเสาร์อาทิตย์อีก แล้วสุดท้ายวันหยุดของเราอยู่ไหนกัน?

5 รูปแบบพนักงาน ที่มักจะโดนเพื่อนร่วมงานเกลียด

เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเราถึงไม่มีเพื่อนในที่ทำงาน หรือคนรอบตัวแสดงความรู้สึกไม่ค่อยอยากทำงานกับเราสักเท่าไร
มาลองเช็กว่ากำลังเป็นแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า

จัดการปัญหา แก้ไขทุกวิกฤติด้วย Fink’s Crisis Management Model

ชีวิตการทำงานของทุกคนคงไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ยิ่งต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย หลายทีม ยิ่งมีปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้การตั้งรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น และผ่านมันไปให้ได้เสมอ