Search
Search

เป้าหมายสำเร็จได้ หากลงมือทำให้ต่อเนื่อง

หลายต่อหลายครั้งที่เราวางเป้าหมายไว้อย่างดิบดีในช่วงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องสุขภาพ เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การเรียนทักษะใหม่เพิ่มเติม แต่พอถึงกลางปีก็เบื่อบ้าง ลืมบ้าง จนล้มเลิกไป

ในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จตามที่ตั้งไว้ ต้องยกยอดไปเป็นเป้าหมายของปีถัดไปอีก หรือโยนทิ้งไปเลย อย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าขี้เบื่อ ไม่อดทน ไม่เอาไหน เราอาจจะแค่ไม่รู้เทคนิคที่ช่วยให้สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ต่อเนื่อง

ทะดะอะกิ โคบะยะชิ เป็นหนึ่งในคนที่เคยประสบปัญหานี้มาก่อน แต่ปัจจุบันก็สามารถทำสิ่งที่ตั้งใจได้ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นั่นคือ การเขียนบทความลง weblog และแมกกาซีนออนไลน์ ซึ่งความสม่ำเสมอนี้เอง ทำให้ผู้ติดตามเกิดความไว้วางใจ น่าเชื่อถือจึงมีงานจ้างเข้ามาเรื่อย ๆ จนสามารถเปลี่ยนอาชีพจากมนุษย์เงินเดือนมาทำงานอิสระเต็มตัวได้ในที่สุด เขาจึงรวบรวม “เทคนิคทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ต่อเนื่อง” เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลายเป็นนิสัย ออกมาเขียนเป็นหนังสือให้ได้อ่านกัน

เริ่มแรก ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ ว่าถ้าตั้งใจ เราสามารถทำได้จริง เช่น จะชนะเลิศการแข่งขัน จะเลิกบุหรี่ จากนั้นกำหนดวงจรการเกิดนิสัย ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ “เริ่มต้น” “ดำเนินการต่อ” และ “เลิก” แต่ละขั้นตอนมีเทคนิคดังนี้

เทคนิค “เริ่มต้น” ขยับสู่ขั้นตอนลงมือ

  • ที่เราไม่เริ่มลงมือสักที อาจเพราะกลัวจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเลิกสิ่งที่ทำอยู่เดิมเพื่อเริ่มทำสิ่งใหม่เสมอไป เช่น งานประจำกับอาชีพใหม่
  • ลดขั้นตอนการเตรียมตัวให้เหลือน้อยที่สุด จัดของทุกอย่างให้หยิบฉวยง่าย เช่น การวิ่งตอนเช้า การทำอาหาร
  • ตั้งเกณฑ์มาตรฐานในการเริ่มต้น ถ้าถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็ทำได้เลยไม่ต้องลังเลอีก
  • คิดถึงผลเสียของการไม่ลงมือทำ เช่น ต้องตื่นเช้าเพราะถ้ายังไปทำงานสาย อาจถูกไล่ออก
  • เลือกทำเฉพาะสิ่งที่คิดว่าสำคัญแล้วทำเต็มที่ ดีกว่าทำหลายอย่างแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
  • เริ่มต้นอย่างง่าย ๆ ก่อน อย่าให้บันไดขั้นแรกสูงเกินไป แบ่งงานใหญ่ให้เป็นงานย่อย
  • ใช้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ การ์ตูน หรือบุคคลสำคัญ หรือจะใช้แรงฮึดจากความอิจฉาริษยา ความแค้นที่โดนดูถูกก็ได้
  • แม้ยังไม่มีอารมณ์จะทำ แต่ถ้าฝืนทำไปสักนาที ก็อาจเครื่องติด ทำต่อไปได้เลย
  • ฝึกทำสมาธิ ฟังดนตรีที่เหมาะกับสิ่งที่อยากทำ ช่วยให้ลื่นไหล
  • จดวันเวลาที่จะทำ และเขียนขั้นตอนสิ่งที่ต้องทำลงในกระดาษ ไว้ในจุดที่เราเห็นบ่อย ๆ

เทคนิค “ดำเนินต่อ” สร้างกลไกไม่ให้ล้มเลิกกลางคัน

  • หาเหตุผลที่จะทำต่อ ยิ่งมีเหตุผลหลายข้อ ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้อยากทำต่อไป
  • สิ่งที่กำลังทำ แม้ยังไม่เชื่อมโยงโดยตรงกับเป้าหมายปัจจุบัน แต่ก็อาจได้นำมาใช้ในเรื่องที่คาดไม่ถึงในอนาคต ถ้าหากไม่ได้เตรียมการไว้ ก็เสียโอกาสไปได้ เช่น การเรียน Calligraphy ของ Steve Jobs ที่ได้นำมาใช้ในการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์
  • ขอกำลังใจจากคนใกล้ตัวที่มีจุดมุ่งหมายคล้ายกัน ช่วยเหลือกัน พยายามไปด้วยกัน
  • สำรวจตัวเองว่าความล้มเหลวที่ผ่านมา เรามักจะเลิกทำด้วยเหตุผลอะไร แล้วหาวิธีรับมือ
  • เมื่อท้อแท้หมดไฟ ให้นึกย้อนไปถึงความตั้งใจแรกเริ่ม
  • ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ทำ มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น จะช่วยให้มีแรงทำต่อไปได้เรื่อย ๆ
  • กำหนดเวลาและสภาพแวดล้อมให้เฉพาะเจาะจง ทำซ้ำบ่อย ๆ สมองจะจดจำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำโดยอัตโนมัติ
  • แต่ถ้าเบื่อหน่ายก็เปลี่ยน วิธีการ เวลา สถานที่ ดูบ้าง ให้เกิดความสนุก แปลกใหม่
  • เชื่อมโยงสิ่งที่อยากทำเข้ากับกิจวัตรเดิมที่มีอยู่ ช่วยให้ไม่ลืมทำ
  • มุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมก่อนและหลัง เช่น เอาเรื่องที่ไม่อยากทำแต่ต้องทำ ไปแทรกระหว่างเรื่องสนุก จะกดดันน้อยลง อยากรีบทำให้เสร็จเพราะมีเรื่องสนุกรออยู่
  • สร้างกลไกที่จะทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องพึ่งแรงจูงใจ เพราะคนเราไม่ได้มีแรงจูงใจทุกวัน

เทคนิค “เลิก” พฤติกรรมด้านลบที่ขัดขวางความสำเร็จ

  • อย่าเลิกแบบกะทันหัน ค่อย ๆ ปรับทีละนิด จะเป็นไปได้มากกว่า
  • มองหาปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ แล้วแก้ที่ต้นเหตุ เช่น กินจุบจิบระหว่างมื้อ เพราะมื้อหลักไม่อิ่มก็ต้องกินแต่ละมื้อให้อิ่ม
  • คำนวณเวลาเผื่อไว้มากกว่าปกติ ช่วยลดการไปสาย การส่งงานไม่ทันตามกำหนด
  • เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือนำสิ่งที่อยากเลิกนั้นออกจากสายตา/ระยะมือเอื้อมถึง
  • ของที่อยากซื้อ อย่าเพิ่งซื้อทันที ให้จดไว้ก่อน กลับมาไตร่ตรองอย่างมีสติ
  • หากอยากเลิกนิสัยใช้เงินเปลือง ให้พกเงินติดตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตัวเองให้หาเรื่องสนุกที่ไม่ต้องเสียเงินทำแทน
  • การจะเลิกพฤติกรรมด้านลบซึ่งผูกติดกับความสุขเพลิดเพลินทำให้เลิกได้ยาก ให้ใช้เทคนิคเบี่ยงเบนความสนใจแทน โดยเติมเต็มความรู้สึกเต็มอิ่มด้วยวิธีอื่น เช่น อมลูกอมแทนการสูบบุหรี่ อ่านหนังสือแทนการเล่นเกม
  • เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ที่อยากทำ เพื่อให้ได้ลดสิ่งเก่าที่อยากเลิก
  • หยุดแก้ตัว เปลี่ยนแปลงคำพูดไปในเชิงบวก เช่น ฉันจะเลิกทำ คำพูดที่พูดบ่อย ๆ จะส่งผลต่อการกระทำเราด้วย

การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ต่อเนื่องจะสร้างพฤติกรรมให้กลายเป็นนิสัยได้ในที่สุด เมื่อรู้เทคนิคเหล่านี้แล้วขอให้เริ่มลงมือทำทันที เป็นกำลังใจให้เป้าหมายของทุกคนได้สำเร็จในปีนี้ ไม่ต้องยกยอดไปทำใหม่ปีหน้า

รีวิวหนังสือ เทคนิคทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ต่อเนื่อง

ผู้เขียน Tadaaki Kobayashi

ผู้แปล อนิษา เกมเผ่าพันธ์

สำนักพิมพ์ อมรินทร์ฮาวทู ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ราคา 225 บาท

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ทำงานเยอะ ไม่อยากเสียสมดุลชีวิต มาลองทำตามวิธีเหล่านี้

เชื่อว่าหลายคนต้องประสบพบเจอปัญหา “ทำงานหนักจนไม่มีเวลาชีวิต” บางคนไม่ได้ทำงานแค่ 5 วัน แต่ยังต้องเอางานที่ทำไม่เสร็จมาทำเสาร์อาทิตย์อีก แล้วสุดท้ายวันหยุดของเราอยู่ไหนกัน?

5 รูปแบบพนักงาน ที่มักจะโดนเพื่อนร่วมงานเกลียด

เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเราถึงไม่มีเพื่อนในที่ทำงาน หรือคนรอบตัวแสดงความรู้สึกไม่ค่อยอยากทำงานกับเราสักเท่าไร
มาลองเช็กว่ากำลังเป็นแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า

จัดการปัญหา แก้ไขทุกวิกฤติด้วย Fink’s Crisis Management Model

ชีวิตการทำงานของทุกคนคงไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ยิ่งต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย หลายทีม ยิ่งมีปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้การตั้งรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น และผ่านมันไปให้ได้เสมอ