“ฝึกทักษะใหม่” ด้วยตัวเองภายใน 9 เดือนแบบสตาร์ทอัพ

อยาก “ฝึกทักษะใหม่” ให้ทันโลก แต่เริ่มต้นไม่ถูก หรือเรียนไปแล้วก็ยังใช้ไม่ได้ หรือบางทีก็เรียน e-learning ให้จบ ๆ ไปเพื่อนับชั่วโมงรับประกาศนียบัตรหรือแลกของรางวัล วันนี้เราขอพาทุกคนไปถอดรหัสสูตรการเรียนรู้ที่อาจไม่มีในทฤษฎี แต่มีคนทำได้จริงแล้วบนโลกนี้ โดยได้หยิบยกทักษะที่สำคัญ มาให้เป็นตัวอย่างให้ลองนำไปวางแผนการเรียนรู้ของตนเองหรือของทีมดูกัน ชวนมาปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ในองค์กรที่หลายคนบ่นอุบว่าเรียนแล้วนิ่งให้กลายเป็นชั่วโมงที่สร้าง value ที่แท้จริงต่อทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรไปด้วยกัน และเมื่อโอกาสมาถึงจะได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ได้อย่างเต็มที่และพร้อมจะปรับตัวไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแบบใดก็จะเป็นคนที่มีความสามารถอยู่เสมอ

แรงบันดาลใจจากออสติน ทัคคาเบอรี: ฝึกเขียนโค้ดให้เป็น Software Engineer

ขอยกตัวอย่างด้วยการเล่าถึงคุณออสติน ทัคคาเบอรี พนักงานวิศวกรทั่ว ๆ ไปที่มีความฝันอยากทำสตาร์ทอัพของตัวเอง แต่ไม่มีความรู้เรื่องเทคฯ เลย (ในที่นี้คือ การเขียนโค้ด) จึงอยากจะลองฝึกเขียนโค้ดด้วยตัวเองและเป็น Software Engineer ซึ่งเรื่องราวนี้คงคล้าย ๆ ใครหลายคนในตอนนี้ที่กำลังคิดว่า “รู้งี้” เลือกเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ดีกว่า เพราะตอนนี้เป็นที่ต้องการสูงและเงินเดือนก็สูงมากตามด้วย แถมส่วนใหญ่ยังทำงานที่ไหนบนโลกก็ได้ ทำงานผ่านคอมพิวเตอร์และไม่ต้องใช้ทักษะด้านภาษา(ต่างประเทศ) แต่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ หลังจากทัคคาเบอรีลองค้นหาข้อมูลดูสักพักก็พบว่า ทักษะนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจบสาขาใดมา แต่สามารถเริ่มเรียนรู้และฝึกฝนได้ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง!

หลายคนที่อ่านถึงตอนนี้ก็คงรู้ดีว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดก็คือ การเริ่มต้น และยากกว่านั้นก็คือ เริ่มต้นให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง คุณทัคคาเบอรีก็เช่นกัน เขารู้ตัวดีกว่า เริ่มต้นแบบปกติน่าจะไม่รอดแน่ จึงลองตั้งเป้าหมายแบบโหด ๆ กับตัวเองว่า “ภายใน 1 ปี จะต้องย้ายไปทำงานเป็น Software Engineer ด้วยเงินเดือนที่สูงกว่างานวิศวกรปัจจุบันให้ได้” และจัดแผนการเรียนรู้ของตัวเองเป็น 5 เฟส

  • เฟส 1 (เดือนที่ 1) : เรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) ให้เข้าใจคอนเสปต์ทั้งหมด ด้วยการอ่านบทความจากใน Google Technical Guide ลงเรียนคอร์สออนไลน์เฉพาะทางที่ Udacity โดยเรียนจบคอร์สภายใน 20 วัน ระหว่างเรียนอยู่ในช่วงนั้นเลิกเล่นโซเชียลมีเดียทั้งหมด และอ่านเฉพาะบทความที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจนพบเคล็ดลับว่ามีคอร์สชื่อ Havard CS50 ที่อยู่ใน EdX ที่เหมาะกับผู้ที่กำลังเริ่มต้น

  • เฟส 2 (เดือนที่ 2-3) : เรียนคอร์สใน FreeCodeCamp จนสามารถสร้าง Portfolio ในระดับ Full Stack Web Application ได้ เริ่มต้นด้วยการเรียนคอร์สเกี่ยวกับ Front End, React, Back End ใน FreeCodeCamp และหัดโค้ดโดยใช้ Ubuntu และทำชาเลนจ์ให้ตัวเองด้วยระบบ 100-Day Challenge คือเขียนโค้ดทุกวันติดกัน และจดรายละเอียดความคืบหน้าทุกอย่างใน 100 วัน จนสามารถเขียนโค้ดสร้าง Web App ของตัวเองได้สำเร็จ ได้เรียน YDKJS รวมถึงไปเจอคนในวงการ Coding ตามงาน Meetup ต่าง ๆ เข้าร่วม CodeClub ที่สนใจเรื่องเดียวกัน เพื่อเรียนรู้วิธีคิดใหม่ๆ จากคนอื่นๆ ได้เตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีแต่เนิ่นๆ กับคนที่จะช่วยในการฝึกฝนและสนับสนุนงานได้ในอนาคตเมื่อฝึกสำเร็จแล้ว โดยตลอด 9 เดือน ทัคคาเบอรีได้ไป Meetup ต่อเนื่องถึง 50 ครั้ง

  • เฟส 3 (เดือนที่ 4-6) : ฝึก Clean Up Code โดยลองทำการเขียนโค้ดที่อยู่ในระดับ Advance ช่วงนี้หลังจากผ่านความสำเร็จแรกมาแล้ว ทัคคาเบอรีเลือกจะผ่อนคลายบ้าง เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และสร้างเกมขำๆ ขึ้นมา เช่น เกมซื้อขายหุ้นแบบง่าย ๆ แล้วเอาไปโพสต์ใน Reddit (คล้าย ๆ Pantip) ให้กลายเป็น Portfolio เพื่อดูฟีดแบค และลองสร้างสิ่งที่ยากขึ้นโดยเลือกเป็นแพลตฟอร์มสำหรับหางานโปรแกรมเมอร์ชื่อ JobSort() ที่สามารถ Filter หาคนตามภาษาคอมพิวเตอร์ที่นายจ้างต้องการได้

  • เฟส 4 (เดือนที่ 7-8) : ฝึกเขียน Open Source ด้วยการพัฒนา UX ของตัวเองที่ทำไว้ให้ดีขึ้น และยังกลับไป Reconnect กับเพื่อนที่เคยสร้างสัมพันธ์ไว้ตอนไป Meetup แรก ๆ อีกด้วย และรวบรวมผลงานทั้งหมดนำมาจัดทำเป็น Portfolio ให้เป็นชิ้นเป็นอัน และลงมือสมัครงานทันทีที่ทำเสร็จ โดยส่งเรซูเม่ไป 63 แห่ง ทั้งบริษัทที่ เป็น Software House และ ไม่ใช่ Software House โดยใช้โปรแกรมของตัวเองช่วยหางานให้ด้วย จนได้รับการติดต่อกลับจาก 5 บริษัทแต่ไม่ได้ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ในที่สุด ซึ่งเขาได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่องค์กรมองหาจากมือใหม่ คือต้องมี Passion และอย่างน้อยต้องรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง

  • เฟส 5 (เดือนที่ 9) : ยื่นสมัครงาน และเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน ให้ได้งาน เป็น Software Engineer ที่เงินเดือนสูงขึ้นกว่างานปัจจุบัน ในช่วงนี้ได้ใช้การสัมภาษณ์ปิดช่องโหว่ของตัวเอง คำถามที่โดนถามแล้วตอบไม่ได้ ก็กลับมาเรียนรู้และเตรียมตัวเพิ่ม จนในที่สุดก็มีบริษัทตอบรับมาจริง ๆ

จากที่เล่ามาข้างต้น ทัคคาเบอรียังทำงานประจำปกติ บางครั้งก็ทำงานกะกลางคืน 5 โมง ถึง ตี 5 ถึง 6 วันต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่หากเราดูวิธีคิดของทัคคาเบอรี จะเห็นว่าเป็นระบบและมี mechanism ที่ชัดเจนทั้งในการสร้างความกดดันและผ่อนคลาย การให้รางวัล การเรียนรู้จากคนรอบตัว การเพิ่มแรงจูงใจให้ตัวเอง และการนำสิ่งที่เรียนมาปฏิบัติจริง ตลอดเส้นทางการเรียนรู้จนสำเร็จ

เราเรียนรู้อะไรจากแผนการเรียนรู้และความสำเร็จนี้ได้บ้าง?

นอกจากภาษาคอมพิวเตอร์แล้ว ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สอง สาม หรือสี่ ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานของการทำงานในปัจจุบัน ทั้งใช้ในการหาความรู้ที่อัพเดทอยู่ตลอดเวลา หรือการสื่อสารกับทีมงานและคู่ค้าทั่วโลก ที่ถึงแม้ว่าจะมีโปรแกรมแปลภาษาที่เข้ามาช่วย แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีพื้นฐานในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะทักษะการฟังและพูด

Language Lords เป็น Youtuber ที่ฝึกภาษาฝรั่งเศสด้วยตัวเองใน 30 วัน! ด้วยการพูดทุกวันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเยอะในช่วงแรก แค่ 1 ชั่วโมงนี้ก็ยากพอแล้ว โดยเขาใช้เครื่องมือ 3 อย่าง

  1. โปรแกรมแปลภาษาที่ชื่อ DeepL Translator
  2. Flashcard คำศัพท์ โดยใช้แอปพลิเคชัน ที่ชื่อ Anki
  3. พื้นที่จดประโยค โดยใช้ Google Sheets

การฝึกทักษะใหม่” นี้แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน (ทำซ้ำวันละ 3 รอบ)

1 : อัดวิดีโอพูดชีวิตตัวเองอะไรก็ได้ให้ครบ 5 นาที ฟรีสไตล์ แล้วถ้าเจอคำหรือประโยคไหนคิดไม่ออกก็พูดทับศัพท์ไปเลยอย่าให้สะดุด สิ่งสำคัญคือ ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ ยิ่งยากยิ่งเรียนรู้ไวขึ้น แต่ก็ทำให้หลายคนไม่สามารถผ่านความยากนี้ไปได้

2 : จดคำศัพท์และประโยคจากวิดีโอตัวเอง คำที่ไม่รู้ก็หาคำแปล แล้วเอาไปเก็บในคลัง Flashcard แต่ละเรื่อง จะมี Flashcard แยกกัน ส่วนประโยคก็พิมพ์ลง Google Sheet

3 : ทำขั้นที่ 1-2 ซ้ำ 2 รอบ จนเนียน ถ้ามีคำใหม่เพิ่มขึ้นมาก็ให้จดเพิ่มลงไปอีกเรื่อย ๆ

4 : เล่าเรื่องแนวเดิม ด้วยหัวข้อใหม่ เพื่อเป็นการฝึก Apply ใช้คำศัพท์ในประโยคหรือสถานการณ์หลาย ๆ แบบจนพูดคล่อง และ 5 นาทีจะผ่านไปเร็วมาก

5 : ทบทวนคำศัพท์และประโยคทุกวัน เปิด Flashcard และ Google Sheet และสามารถหาตัวช่วย ในที่นี้เรียกว่า Language Partner มาช่วยรีวิวหรือแนะนำให้ดูเป็นธรรมชาติ หรือฝึกคุยกับคนจริง ๆ ได้ เช่น แอปพลิเคชัน Hello Talk และอาจแบ่งการฝึกทีละเรื่อง ได้แก่ Speaking, Vocabruary, Accent, Listening, Conversation โดยใช้วิธีที่ต่างกัน เช่น ดูวิดีโอแล้วพูดสรุปใจความ (ควรเลือกวิดีโอที่เราอยากมีสำเนียงเหมือน) หรือ อ่านบทความแล้วพูดสรุปใจความ เป็นต้น และพักด้วยการดูหนัง กินขนม หรือเดินเล่น

แน่นอนกว่า กว่าจะสำเร็จ เขาเคยถอดใจกับการเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ไม่ได้ผลมาแล้วเหมือนกับหลาย ๆ คน จนกระทั่งฮึตสู้อีกครั้งในช่วงกักตัวและตกงาน โดยใช้เวลาเพียง 30 วัน วันละ 8 ชั่วโมงจนสำเร็จ โรงเรียนสอนภาษาบางแห่ง (โดยเฉพาะที่ว่าเรียนแล้วเห็นผลจริง) ก็เริ่มใช้เทคนิคนี้มาสอนนักเรียนมากกว่าการเรียนตามหนังสือและสลับพูดกับครูต่างชาติเพียงอย่างเดียว

แนวคิดในการออกแบบหลักสูตรในยุคหลังโควิดแบบ 4-S แนะนำให้เริ่มด้วยปัญหาและสิ่งที่ต้องรู้ (Struggle) เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ถ้าเราไม่รู้ว่า ต้องรู้อะไรบ้าง รู้ไปทำไม และต้องอย่างไรจึงจะรู้ หลังจากนั้นจัดโครงสร้างสิ่งที่รู้แล้วออกจากสิ่งที่ยังขาด (Structure) แล้วค่อย ๆ เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (Systemize) ทั้งข้อมูลจากที่เรียนด้วยตนเอง จากคนรอบข้าง จากการลองผิดลองถูก จนเกิดเป็นองค์ความรู้และทักษะใหม่ในแบบของตัวเอง (Synthesize)

ทั้งหมดนี้ แน่นอนว่า แรงจูงใจปลายทางที่หอมหวาน คือ การเติบโตในชีวิตการทำงานทั้งในด้านการพัฒนาตัวเอง ตำแหน่งงาน และผลตอบแทน โดยผ่าน 4 กระบวนการ ได้แก่ การรู้จักจุดแข็งและสิ่งที่สนใจ (Reflect) การหาทางเลือกในการเรียนรู้และพัฒนา (Explore) การฝึกฝนความรู้ทักษะและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ (Develop) และการเชื่อมต่อกับคนในแวดวงที่สนใจเรื่องเดียวกัน (Connect) จนนำไปสู่โอกาสและคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับตัวเองและองค์กร

การ “ฝึกทักษะใหม่” ด้วย Career Development Framework and Tools, Harvard T.H. Chan

เมื่อได้ทบทวนข้อมูลและเคสตัวอย่างอย่างดีแล้ว ก็ลองสรุปสิ่งที่ทำให้การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น มาฝากไว้ให้ ดังนี้

1. การออกแบบวิธีการเรียนจากสิ่งที่ชอบทำ จะทำให้เรียนง่ายขึ้น หาสิ่งที่ชอบแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ชอบจดบันทึกสวย ๆ ก็นำการเขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน

2. คนที่มี deadline ที่ชัดเจนจะถึงเป้าหมายได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มี รวมถึงการกำหนดเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายรายวัน

3. การอยู่ในกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันจะช่วยให้สำเร็จง่ายขึ้น การเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคนช่วย จะสำเร็จช้ากว่าการมีคอนเนคชันในการสอบถาม แนะนำ เติมไฟ จุดประกาย และการรู้จักกับคนตอนที่เรายังไม่เก่ง ย่อมมีแต่คนอยากช่วยเหลือ

4. ไม่ต้องรอให้ทักษะเพอร์เฟคก็ลงสนามจริงได้เลย พูดไม่คล่องก็ข้าม ๆ บางคำไปบ้างก็ได้ หรือเขียนโค้ดยังไม่เพอร์เฟคก็ลอง Open Source ก่อน

5. ฟีดแบคสำคัญมากกับการเรียนรู้ เป็นการทดลองว่าเราใกล้เคียงมาตรฐานที่ตลาดต้องการแล้วหรือยัง

ขอบคุณข้อมูลจาก : Khon At Work

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Jeff Bezos
เลิกเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ด้วยประตูสองบานของ Jeff Bezos เทคนิคการตัดสินใจที่ผู้บริหารใน Amazon ถูกสอนให้ใช้
1. เวลาตัดสินใจอะไรไม่ได้ อาจไม่ใช่เพราะว่าเราตัดสินใจได้ไม่ดี แต่เราหารู้ไม่ว่าเราไม่เคยแยกมากกว่าว่าการตัดสินใจไหนที่อนุญาตให้เรา ‘ตัดสินใจผิดพลาด’ ได้...
2025 ai
รวม 10 AI น่าใช้ประจำปี 2025 มีเอาไว้พนักงานออฟฟิศทำงานคล่องขึ้นแน่นอน
Work smarter, not harder ด้วย AI Tools เหล่านี้ จดเอาไว้! ฝึกใช้ ทำงานง่ายขึ้นแน่นอน 1. ChatGPT AI ChatBot ที่สามารถโต้ตอบและตอบคำถามได้อย่างเป็นธรรมชาติ...
mindset
10 Mindset สร้างความแตกต่าง สู่ความสำเร็จในที่ทำงานก่อนใคร
ในโลกที่แข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ความรู้และความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวอาจไม่พาเราไปได้ไกลเท่าที่หวัง สิ่งที่แยกคนประสบความสำเร็จออกจากคนทั่วไปอย่างแท้จริงคือ...