Mercedes-Benz ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่รถหรูในฝันของคนทั่วโลก

Mercedes-Benz
Mercedes-Benz เป็นหนึ่งในแบรนด์เยอรมันที่มีมูลค่ามากสุด ซึ่งมีมูลค่าบริษัท 3 ล้านล้านบาท ยอดขาย 3.7 ล้านล้านบาท และเป็นรถหรูในฝันของใครหลายคน…

กว่า 100 ปีที่ Mercedes-Benz ก่อตั้งมา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของโลก รถเบนซ์ยังคงมีมนตร์เสน่ห์ของยานพาหนะที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ครอบครอง มันไม่ได้แค่พาผู้โดยสารจาก A ไป B แต่เป็นอะไรมากกว่านั้น…

แต่กว่าจะมีวันนีเมอร์เซเดส-เบนซ์ผ่านอะไรมาไม่น้อย

กำเนิดรถยนต์คันแรกของโลก “Mercedes-Benz”

Mercedes-Benz ก่อตั้งโดยคุณ Karl Benz และ Gottlieb Daimler เมื่อปี 1883 

ก่อนที่ปี 1886 Karl Benz ซึ่งเป็นวิศวกรหัวกะทิได้ประดิษฐ์รถยนต์ที่ใช้การสันดาปภายในโดยมีเชื้อเพลิงเป็นน้ำมัน (Internal combustion engine) เป็นครั้งแรกของโลกได้สำเร็จ 

นี่คือ “รถยนต์คันแรกของโลก” (ยุคนั้น “ม้า” ยังเป็นพาหนะการเดินทางอยู่)

Elite World

เนื่องจากสมัยก่อน รถยนต์เป็นของหรูหราที่คนธรรมดายากจะเอื้อมถึง ลูกค้ากลุ่มแรกๆ จึงเป็นกลุ่ม “ชนชั้นสูง” ของสังคมในแต่ละเมือง-แต่ละประเทศ และเป็นการวาง Positioning ตั้งแต่แรกเริ่มถึงความเป็นแบรนด์รถหรู

Mercedes-Benz ได้โปรโมทรถยนต์ตัวเองอย่างหนัก โดยมีลูกค้ารายแรกๆ คือตระกูลรอธส์ไชลด์ (The Rothschild’s family) หนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และ คุณ Rockefeller อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน

ภาพลักษณ์ของแบรนด์แปรผันไปตามกลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน เมื่อมีกลุ่มคนรวยที่สุดระดับโลกตัดสินใจเป็นลูกค้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ขึ้นสู่ยอดสุดของพีระมิดในวงการรถยนต์

รู้หรือไม่ว่า “รถยนต์คันแรกของเมืองไทย” ก็คือรถเบนซ์นี่เอง โดยถูกนำเข้ามาในปี 1904 เป็นรถที่ใช้สำหรับสมาชิกราชวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่ความนิยมจะเริ่มแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงของไทย

เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปก้าวนึงเสมอ

ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์เท่านั้น แต่รถยนต์ของ Mercedes-Benz ยังมาพร้อมเทคโนโลยีที่เป็น “ผู้นำตลาด” อยู่แทบทุกยุคสมัย นวัตกรรมที่เบนซ์เป็นเจ้าแรกๆ ของโลก เช่น

  • เครื่องยนต์สันดาปภายในเจ้าแรกของโลกในปี 1886
  • รวงผึ้งหน้ารถ (Honeycomb radiator) ที่ใช้ระบายความร้อน
  • เบรครถยนต์ที่ติดตั้งอยู่ทั้ง 4 ล้อ ในปี 1924
  • รถยนต์ดีเซลคันแรกของโลก ในปี 1936
  • ทดสอบการชน (Crash test) ในปี 1958
  • ระบบป้องกันเบรคล็อค (ABS) ในปี 1978
  • เจ้าแรกในยุโรปที่ติดตั้ง Airbag ในปี 1981
  • เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับ (Pretensioner seatbelts) ในปี 1981

Logo Mercedes-Benz อันทรงพลัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลโก้อันแสนเรียบง่ายแต่กลับทรงพลังและดูหรูหราอย่าง “ดาวสามแฉก” ที่สื่อถึงความเป็นเลิศในการได้ครอบครองพื้นดิน-มหาสมุทร-ท้องฟ้า คือหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาที่ประสบความสำเร็จที่สุดของบริษัท 

เวลามันไปปรากฎอยู่หน้ารถ / กุญแจรถ / ป้ายหน้าโชว์รูม / หรือขวดน้ำดื่ม ล้วนทำให้สิ่งนั้นดูหรูหราพรีเมียมขึ้นมาทันที

จากอดีตถึงปัจจุบัน โลโก้ของเบนซ์มีอยู่ทั้งหมดเพียง 6 แบบ ดีไซน์ปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 1989 และการปรับโฉมโลโก้ที่เริ่มมีโครงดาวสามแฉกให้เห็น ปรากฎมาตั้งแต่ปี 1909 (โลโก้แรกมีแค่ชื่อตัวอักษร) เรียกว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ยึดมั่นในดาวสามแฉกมาเป็นระยะเวลาเกิน 100 ปีแล้ว

โลโก้นี้จะยังอยู่…และถูกบูชาสรรเสริญไปอีกนาน

เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่สู่อนาคต

เมอร์เซเดส-เบนซ์มีภาพลักษณ์ที่ภูมิฐาน สุขุม ลุ่มลึก ดูเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ถูกจริต “ลูกค้าสูงวัย” แบบเต็มๆ แต่กลับสร้างปัญหาในการขยายสู่ฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่จะมีขนาดใหญ่ในอนาคตนั่นคือ “กลุ่มคนรุ่นใหม่”

จึงได้ออกนโยบาย Customer Centric ยึดลูกค้าอันหลากหลายเป็นศูนย์กลาง ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าหลายกลุ่ม เช่น ผ่านผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม-ทุกวัย

  • Compact car – เจาะกลุ่มมิลเลนเนียล
  • SUV – เจาะกลุ่มครอบครัว
  • AMG – ตัวแรงไว้เจาะกลุ่ม Niche ขาสปอร์ต
  • EQ – เจาะกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม

การออก Global Campaign อย่าง “Grow up” สื่อสารอย่างใกล้ชิดโดยตรงไปยังคนรุ่นใหม่ หรือการเปิดตัว “She’s Mercedes” แพลตฟอร์มที่มีขึ้นเพื่อลูกค้าผู้หญิงยุคใหม่โดยเฉพาะ

ในรอบ 4-5 ปีมานี้ ทางแบรนด์ยังได้ลงทุนในสื่อออนไล์อย่างมีนัยยะสำคัญเพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ผู้บริโภคและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยเยาว์มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มหลังนี้ที่อาจกลายมาเป็น “ลูกค้าในอนาคต”

กลุ่มลูกค้าองค์กร

เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้สร้าง “พันธมิตร” มาอย่างยาวนานกับลูกค้ากลุ่มองค์กร-สถาบันต่างๆ รถประจำตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ขององค์กร (Fleet) / รถลีมูซีนประจำโรงแรม / รถรับส่งสนามบิน / รถประจำตำแหน่งเอกอัครราชฑูต / รถนำขบวนราชวงศ์และผู้นำสำคัญในแต่ละประเทศ

โดยทางบริษัทได้แยกหน่วยงานออกมาเป็น “Mercedes-Benz Corporate Solutions” เพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษเลย เพราะมีความต้องการที่แตกต่างจากลูกค้ารายบุคคล 

สำหรับในเมืองไทยเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในตลาดรถลิมูซีนประจำโรงแรม 5 ดาว โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ S-Class 

รวมจุดแข็งการทำงานแบบคนเยอรมัน

เมอร์เซเดส-เบนซ์เป็นบริษัทของชาวเยอรมัน จึงมีถอดแบบวิธีการทำงานอันแข็งแกร่งของชาวเยอรมันมาเต็มๆ อาทิเช่น

งานคือทำงาน

เวลาเริ่มงานตอนเช้าคือเริ่มทำงานจริงๆ ถ้าเข้า 8 โมง หมายถึง 08:00 ต้องลงมือทำงานแล้ว 

พนักงานถูกคาดหวังให้โฟกัสที่ “งาน” บางตำแหน่งถึงกับมีกฎกติกาห้ามเข้า Facebook เด็ดขาดถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกับงาน เมื่อมีพลังโฟกัสเต็มที่ ก็นำไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

ตรงไปตรงมา

มีอะไรพูดกันตรงๆ เข้าประเด็นไม่อ้อมค้อม และไม่เก็บมาเป็นเรื่องส่วนตัว

เช่น ถ้าลึกๆ คิดว่า Interior Design รถรุ่นนี้ยังไม่ค่อยสวยจะไม่พูดว่า “จะดีมากเลยถ้าจุดนี้ 1-2-3-4 ได้รับการปรับปรุงเพิ่มอีกหน่อย”  แต่จะพูดว่า “ยังไม่สวย ต้องแก้ใหม่…เพราะจุดนี้ 1-2-3-4 ยังไม่สอดคล้องกัน” 

หากมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจก็จะแสดงความคิดเห็น แม้ว่าสิ่งที่พูดจะขัดแย้งหรือไม่อยู่ในชุดความคิดกระแสหลักก็ตาม บริษัทเปิดรับความคิดอันหลากหลายของพนักงาน

และเพราะอยู่ในวงการวิศวกรรม ข้อมูลที่นำเสนอมักต้องเสริมด้วย “ตัวเลข” เพื่อความน่าเชื่อถือเสมอ 

ความตรงไปตรงมานำไปสู่ “ประสิทธิภาพ” การทำงาน เพราะสื่อสารตรงจุดเข้าใจกันทุกฝ่าย ปัญหาถูกแก้ทันที ไม่ปล่อยไว้จนบานปลาย

ความเป็นระบบของ Mercedes-Benz

เช่นในการประชุม จะต้องนัดล่วงหน้า ส่งเมลหาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า / ตั้ง Agenda / ประชุมกี่นาที / เข้าร่วมกี่คน / แต่ละคนนำเสนอประเด็นอะไรบ้าง / Action Plan หลังจบประชุมต้องทำอะไรต่อ 

ทั้งหมดนี้เป็น “มาตรฐาน” ในการทำงานไปแล้ว

ความเป็นระบบ ยังนำไปสู่การมี “วินัย” ไปในตัว พนักงานต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นจนจบ และรู้ว่าหน้าที่หลักตัวเองต้องทำอะไรบ้าง

ทีมสปิริต

ท้าวความมาจากอุปนิสัยชาวเยอรมันที่จะคิดถึง “ส่วนรวม” มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปเรื่องอื่นๆ ในการทำงาน

เช่น ถ้าคุณมาสาย 5 นาที คุณกินเวลาเพื่อนร่วมทีมคนอื่นไปด้วย ถ้ามีคน 10 คนก็เสียเวลารวมถึง 50 นาทีแล้ว สุดท้ายจึงหล่อหลอมให้มาตรงเวลาเพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนอื่น

ถ้าคุณอู้งาน งานนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่อาจไปกองอยู่ที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นแทน จึงเป็นความรับผิดชอบที่คุณต้องเอาใจใส่ในงานตัวเอง

จุดแข็งการทำงานแบบชาวเยอรมันเหล่านี้(ที่ได้รับการยอมรับในสากล) ได้ถูกถ่ายทอดไปยังบริษัทย่อยและดีลเลอร์ในแต่ละประเทศด้วยเพื่อสร้างมาตรฐานที่สูงไปในทิศทางเดียวกัน

Mindset การทำงานยุคใหม่

สมัยก่อนเมอร์เซเดส-เบนซ์ขึ้นชื่อในความ Conservative ผ่านประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ ขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา หลายคนมองว่ายังไงก็ขายได้ แบรนด์ขายตัวมันเอง…แต่ปัจจุบันได้ปฏิเสธชุดความคิดแบบ “เสือนอนกิน” นี้ไปแล้ว

โดยพนักงานจะถูกปรับทัศนคติว่า การทำงานที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ไม่มีวันไหนเลยที่เป็น “วันธรรมดา” (Ordinary Day) เพราะทุกวันสามารถเป็นวันพิเศษได้…ถ้าเราอยากให้มันเป็นจริงๆ!! 

และช่วงปีหลังๆ ได้โอบกอดความเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ทำใหม่ เช่น การออกแบบออฟฟิศที่ลดกำแพงลง เพิ่มทัศนวิสัย / รถยนต์ที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยววัยรุ่นขึ้น / การกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า / ราคาและบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ลูกค้าวัยเยาว์มากขึ้น

ปรับตัวตามโลกอย่างต่อเนื่อง

ในทศวรรษที่ผ่านมา ผู้บริโภคทั่วไปเห็นได้ชัดเจนจาก “ดีไซน์รถ” (Design language) รุ่นใหม่ๆ ที่เหมือนจะเอาใจลูกค้าคนหนุ่มสาว (Young adult) มากขึ้นอย่างชัดเจน

พร้อมกับการปรับตัวไปโฟกัสที่รถประเภท SUV ซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั่วโลกในรอบหลายทศวรรษมานี้ ในปี 2019 กว่า 1/3 ของรถเบนซ์ที่ขายไปทั่วโลกเป็นรถประเภท SUV ด้วยยอดขายกว่า 783,700 คัน

นอกจากนี้ยังหันเข้าสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ได้ทันกระแส ในยุโรป ยอดขายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ากว่า 1/4 ตกเป็นของเมอร์เซเดส-เบนซ์และในปี 2021 ยังได้ออกรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Mercedes-EQ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปูทางสู่ความเป็นรถยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้นในอนาคต

อันที่จริง นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 2019 หัวหน้านักวิจัยของเมอร์เซเดส-เบนซ์ออกมาประกาศเองว่า “บริษัทจะเลิกพัฒนารถที่ใช้น้ำมันแล้ว และหันไปโฟกัสเทคโนโลยีไฟฟ้าแทน” 

จากผู้คิดค้นเครื่องยนต์สันดาปภายในรายแรกของโลก ตัดสินใจหยุดพัฒนา…และหันไปโฟกัสรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (รวมถึงมีข่าวพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอยู่ด้วย)

นี่เป็นคำประกาศที่กล้าหาญมาก เพราะมันคือการ Disrupt ตัวเอง ในสิ่งที่เป็นผู้ริเริ่มและเชี่ยวชาญมาโดยตลอด ซึ่งเราคงได้เห็นรถยุคใหม่ที่แปลกใหม่และน่าสนใจจาก Mercedes-Benz ในอนาคตอันใกล้ 

และเป็นอีกเรื่องที่ยืนยันว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ปรับตัวตามกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่แปลกเลยที่จะอยู่มาเป็นร้อยปีได้ 

และร้อยปีจากนี้…คงจะมีเรื่องราวน่าสนใจให้ได้พบเห็นกันอีกแน่นอน

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ พร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Jeff Bezos
เลิกเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ด้วยประตูสองบานของ Jeff Bezos เทคนิคการตัดสินใจที่ผู้บริหารใน Amazon ถูกสอนให้ใช้
1. เวลาตัดสินใจอะไรไม่ได้ อาจไม่ใช่เพราะว่าเราตัดสินใจได้ไม่ดี แต่เราหารู้ไม่ว่าเราไม่เคยแยกมากกว่าว่าการตัดสินใจไหนที่อนุญาตให้เรา ‘ตัดสินใจผิดพลาด’ ได้...
2025 ai
รวม 10 AI น่าใช้ประจำปี 2025 มีเอาไว้พนักงานออฟฟิศทำงานคล่องขึ้นแน่นอน
Work smarter, not harder ด้วย AI Tools เหล่านี้ จดเอาไว้! ฝึกใช้ ทำงานง่ายขึ้นแน่นอน 1. ChatGPT AI ChatBot ที่สามารถโต้ตอบและตอบคำถามได้อย่างเป็นธรรมชาติ...
mindset
10 Mindset สร้างความแตกต่าง สู่ความสำเร็จในที่ทำงานก่อนใคร
ในโลกที่แข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ความรู้และความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวอาจไม่พาเราไปได้ไกลเท่าที่หวัง สิ่งที่แยกคนประสบความสำเร็จออกจากคนทั่วไปอย่างแท้จริงคือ...