Bar B Q Plaza ปั้นองค์กรอย่างไร ?

Bar B Q Plaza
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในโรงรถที่ใช้เคี่ยวน้ำจิ้ม มาวันนี้ Bar B Q Plaza เติบโตจนเป็นเชนร้านอาหารที่ทุกห้างใหญ่ต้องมี แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ Bar B Q Plaza ผ่านอะไรมาไม่น้อย

จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของ Bar B Q Plaza

Bar B Q Plaza ก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดยคุณชูพงศ์ ชูพจน์เจริญ เปิดสาขาแรกที่ Central ลาดพร้าว

เริ่มแรกเป็นธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ทำกันเองทั้งหมด คุณชูพงศ์ต้องหมกตัวในโรงรถวันละหลายชั่วโมงเพื่อเคี่ยวน้ำจิ้มซอสสูตรเด็ด แต่ความพยายามนี้สำเร็จด้วยดี “น้ำจิ้มบาร์บีคิว” กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนมาทานเป็นประจำ เพราะรสชาติถูกปาก

อีกทั้งถูกจริตคนไทยที่มีไลฟ์สไตล์ “ชอบกินปิ้งย่าง” เป็นชีวิตจิตใจ ภาพผู้คนนั่งในห้องแอร์ ใจกลางห้างสรรพสินค้า พร้อมกินหมูกระทะที่ปิ้งบนกระทะทองเหลืองจึงเริ่มแพร่หลายไปหลายสาขาและหลายหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

Image Cr. bit.ly/2Q3kVG6

ทำให้บาร์บีคิวพลาซ่าเป็นหนึ่งในเชนร้านอาหารที่ต้องมีไปแล้วตามห้างใหญ่

  • ปี 2015 รายได้ 2,943 ล้านบาท กำไร 284 ล้านบาท
  • ปี 2016 รายได้ 3,191 ล้านบาท กำไร 315 ล้านบาท
  • ปี 2017 รายได้ 3,532 ล้านบาท กำไร 395 ล้านบาท

จุดเปลี่ยนผ่าน ยุคเก่า-ใหม่ ของ Bar B Q Plaza

ปี 2016 บริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ประกอบด้วยหน่วยธุรกิจ (Business Unit) และหน่วยปฎิบัติการย่อย (Functional Unit) แบ่งการทำงานเป็นระบบอย่างชัดเจน…จากเดิมที่บริหารแบบครอบครัวกันเองไม่ได้แยกเป็นระบบนัก 

โดยมีแบรนด์เรือธงคือบาร์บีคิวพลาซ่าการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้เพื่อเตรียมก้าวสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น และหล่อหลอมวิสัยทัศน์ใหม่ให้ชัดเจนขึ้นนั่นคือการ “ส่งมอบความสุขโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง” พร้อมสโลแกนใหม่อย่าง “ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด”

เมื่อตีกรอบความคิดใหม่ให้กว้างขึ้น เราจะพบกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต่อไปนี้ บาร์บีคิวพลาซ่าอาจนำเสนออาหารรูปแบบใหม่อะไรก็ได้นอกเหนือจากปิ้งย่าง เพราะเป้าหมายคือทำให้คนกินมีความสุขนั่นเอง

People Department

การเปลี่ยนชื่อบริษัทสู่ยุคใหม่ มาพร้อมการขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งก็คือคุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล

ก่อนจะมาเป็นบาร์บีคิวพลาซ่ายุคใหม่สุดครีเอทีฟแบบปัจจุบัน บริษัทเคยประสบปัญหา “ขาดคนเก่ง” ประกาศหางานก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ คนเก่ามีแต่ความคิดเก่าๆ ออฟฟิศก็อยู่ชานเมืองไม่น่าดึงดูด 

เธอจึงได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้าน HR ใหม่หมด

  • ปรับขั้นตอน Recruitment Process ใหม่ทั้งหมด
  • สร้างคอร์ส Training & Development
  • ออกแบบ Employee Experience ส่งมอบความสุขให้ลูกค้าแล้ว ตัวพนักงานเองก็ต้องมีความสุขด้วย
  • วางแผน Employee Journey ตั้งแต่วันที่ไปประกาศตามมหาวิทยาลัยจนวันที่รับเงินโบนัสประจำปี
  • กระจายอำนาจให้พนักงานทุกระดับสามารถเสนอไอเดียพัฒนาบุคลากรใหม่ๆ มาได้ตลอด (ไม่จำกัดแค่ฝ่าย HR)

“คุณภาพชีวิตของพนักงานคือสิ่งสำคัญที่บริษัทต้องดูแล” CEO ใหญ่ของบริษัทได้กล่าวไว้

การปรับโฉมด้าน HR ใหม่นำไปสู่การได้รับรางวัล Best Employer Thailand ในปี 2017 เลยทีเดียว

ผู้นำองค์กร

รู้หรือไม่? เบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดองค์กรที่เปลี่ยนไป ได้รับการร่วมขบคิดและส่งเสริมโดยตรงจากคุณชูพงศ์ ชูพจน์เจริญ…ผู้ก่อตั้งบาร์บีคิวพลาซ่าที่เคี่ยวน้ำจิ้มสูตรเด็ดอยู่ในโรงรถหลังบ้านสมัยก่อน

“การทำงานต้องเป็นเรื่องสนุก ชีวิตต้องเต็มไปด้วยความเรียบง่าย คนเราไม่มีวันหยุดเรียนรู้ ความอยากรู้อยากเห็นนำพาเราไปเจอสิ่งใหม่ตลอดเวลา และไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

เขาก้าวลงจากตำแหน่งที่ปั้นมากับมือเกือบ 30 ปี และว่าจ้างผู้บริหารคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนนอกครอบครัวมาช่วยปรับผังองค์กรให้เป็นระบบขึ้น การไม่ยึดติดกับสิ่งที่ทำมากับมือ คือก้าวแรกสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าเดิมของบาร์บีคิวพลาซ่า เฉกเช่นวันนี้

ยอมรับความผิดพลาด

บางคนอาจบอกว่าการเป็นผู้บริหารที่แข็งแกร่ง ต้องกัดฟันอย่ายอมรับผิดอะไรง่ายๆ เพราะจะเสียความน่าเชื่อถือจากลูกน้อง นักลงทุน และลูกค้า

แต่นั่นไม่ใช่กับคุณบุ๋ม Chief Possible Officer (CPO) ที่ซื่อสัตย์กับตัวเองและลูกค้า

“บุ๋มยอมรับว่าทำผิดพลาด” เธอพูดอย่างเปิดอกถึงประเด็นดราม่า “กระทะดำ” (Black Pan) ที่เปิดตัวเมื่อปี 2016 ทั้งกระแสลูกค้าไม่ชอบ หรือ น้ำดำที่เกิดจากคราบกระทะ

Bar B Q Plaza มีวัฒนธรรมองค์กรที่โอบกอดความล้มเหลว ดีใจเมื่อทำสำเร็จ ขอโทษเมื่อทำผิดพลาด และนำมาเป็นบทเรียน ถ้าเราไม่เคยล้มเหลวเลย นั่นแปลว่าเราอาจยังทำอะไรไม่มากพอ

โดราเอมอนเมืองไทย

บาร์บีคิวพลาซ่าเป็นแบรนด์แรกๆ ในเมืองไทยที่ใช้กลยุทธ์ “Character Marketing” โดยมีบาร์บีกอน หรือ “พี่ก้อน” มาสคอตประจำแบรนด์ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1996 บาร์บีกอนยืนอยู่คู่หน้าร้านบาร์บีคิวคอยต้อนรับลูกค้า และเป็นเพื่อนถ่ายรูปให้กับน้องๆ หนูๆ มาเกือบ 30 ปี (จากเด็กจนโต!)

พี่ก้อนเป็นกุลยุทธ์ที่ใช้เพื่อเข้าไปนั่งอยู่ในใจของลูกค้าวัยละอ่อน เราจะเห็นภาพมาสคอตที่พี่ก้อนทะเล้นใส่ผู้ใหญ่แต่กลับอ่อนโยนแก่เด็กๆ 

ถ้าถามน้องๆ หนูๆ จะบอกว่า “อยากไปหาพี่ก้อน” (ไม่ใช่ “อยากไปกินบาร์บีคิวพลาซ่า”) เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นมาก็จะมี “ความผูกพัน” กับร้านเป็นทุนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบไม่ได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ ในปี 2016 มีความพยายามที่จะ “ปั้นพี่ก้อน” ให้เป็นมาสคอตเบอร์ 1 ของเมืองไทย

“เราตั้งเป้าให้พี่ก้อนเป็นโดราเอมอนของเมืองไทย” คุณบุ๋ม แม่ทัพใหญ่ด้านการตลาดกล่าวไว้อย่างหนักแน่น

เมื่อพูดถึงมาสคอต จะนึกถึงที่ไหนไปไม่ได้เลยนอกจากญี่ปุ่น ดินแดนแม่ของมาสคอตที่มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองบาร์บีคิวพลาซ่าจึงได้ไว้ใจให้ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นคุณ Masako Okamura ปรับโฉมใหม่พี่ก้อนใหม่ทั้งหมด ให้ดูทันสมัย เป็นมิตร อบอุ่น และเป็นสากลขึ้น 

พร้อมใส่ “ชีวิต” ให้แก่พี่ก้อนทั้ง

  • ประวัติส่วนตัว 
  • อุปนิสัยที่ขี้เล่นกับเด็กๆ
  • ความสามารถพิเศษ (เช่น “จมูกหยั่งรู้” แค่ดมก็ว่าอาหารสุกพร้อมทานแล้ว)

ทั้งหมดนี้เพื่อนำพี่ก้อนเข้าไปอยู่ในทุกอณูของแบรนด์ เกิดการจดจำที่ดี ต่อยอดไปสู่การเกิด Brand Love ความรักในแบรนด์ที่พร้อมปกป้องและให้อภัย! (ก้อนขอโทษก้อนผิดไปแล้ว…)

Marketing-Based Company

ในรอบไม่กี่ปีมานี้ เราเห็นบาร์บีคิวพลาซ่าริเริ่มการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะ 

  • โฆษณาที่ชวนน้ำตาไหล (พนักงานร้านอาหารก็มีแม่)
  • แคมเปญ “ล่าไข่บาร์บีกอน”
  • ของสะสมต่างๆ ลายบาร์บีกอน
  • LIVE สดขายของในช่วงโควิด 
  • ส่ง Delivery พี่ก้อนไปเสิร์ฟถึงที่ 
  • หรือ collaboration กับแสนสิริ ส่ง Food Truck ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้าน

คุณบุญย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ หรือ “พี่บุ๋ม” ผู้บริหารใหญ่คนแรกที่เป็น “คนนอก” สมาชิกครอบครัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้

เธอเอาประสบการณ์จากการทำเอเจนซี่มาผนวกร้านอาหารนี้ให้ดูเก๋และทันสมัยขึ้น จนภาพลักษณ์ บาร์บีคิวพลาซ่าทุกวันนี้นอกจากคนจะจดจำน้ำจิ้มแสนอร่อยหรือการปิ้งย่างแล้ว ยังนึกถึงความ “ครีเอทีฟ” ของแบรนด์

พนักงานร้านอาหารก็มีแม่ หรือ “The Waiters’ Mom” โฆษณานี้กวาดไปถึง 7 รางวัลด้านโฆษณาของประเทศไทย

ปี 2018 ได้รับการจัดลำดับให้เป็น “สุดยอดแบรนด์บนโลกโซเชียลมีเดีย” จากผลการสำรวจโดย Thailand’s Most Social Power Brand ที่วัดผลใน 4 ช่องทางหลักได้แก่ Facebook / Instagram / Twitter / YouTube

การขยายเข้าสู่โลกการตลาด มาพร้อมการ Rebranding ในหลายมิติ ทั้งพี่ก้อนที่ถูกส่งไปปรับโฉมใหม่ถึงญี่ปุ่น / การตลาดบนโลกโซเชียลมีเดียที่หวือหวาถูกใจคนรุ่นใหม่ / รวมถึงการตกแต่งร้านที่ใส่คาแรคเตอร์พี่ก้อนลงไปในทุกอณู

First Mover ของ Bar B Q Plaza

ทำอะไรขอให้เป็นเจ้าแรกๆ ซึ่งบาร์บีคิวพลาซ่าเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เช่น มาสคอตบาร์บีกอน หรือประสบการณ์การกินหมูกระทะแบบ “ขึ้นห้าง” ในห้องแอร์เย็นๆ และบริการที่ได้มาตรฐาน

ยังเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่ทำ Marketing Collaboration บ่อยสุดๆ เช่น

  • ชุดหมูบาร์บีฮัท (Bar B Q Plaza x Pizza Hut)
  • Collaboration กับบ้านแสนสิริ (Bar B Q Plaza x Sansiri)

สิ่งที่ได้นอกเหนือจาก Brand Awareness และฐานลูกค้าใหม่ๆ แล้วคือ Know-How จากคนเก่งที่ได้ติดต่อร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งใช้มาเป็นเชื้อเพลิงสู่ไอเดียใหม่ๆ ต่อไปได้

แม้แต่การทำ CSR ของแบรนด์ที่มาในรูปแบบใหม่ภายใต้แคมเปญ Bar B Q Plaza x Limited Education โดยลงทุนเปลี่ยนป้ายชื่อร้านบางสาขาเป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็มเป็น “บาบีคิ้วพาซ่า” (ฟ้อนต์มาจากลายมือเด็ก) เพื่อสร้างการรับรู้ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ของเมืองไทย 

เรื่องนี้อาศัย ”ความกล้า” ไม่น้อย เพราะเรารู้กันดีว่า “ชื่อแบรนด์ & โลโก้” เป็นอะไรที่จะมาปรับเปลี่ยนเล่นๆ ไม่ได้ เพราะคือหนึ่งในอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่สำคัญที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบชื่อเมนูของหวานที่มาจากลายมือเด็กทั้งหมด ซึ่งรายได้จะนำไปบริจาคในที่สุด

.

.

บาร์บีคิวพลาซ่าอยู่คู่คนไทยมาร่วม 30 ปีแล้ว ด้วยความคิดที่เปิดกว้าง พร้อมโอบรับสิ่งใหม่ๆ เรื่องราวของบาร์บีคิวพลาซ่าเป็นบทเรียนให้แก่เราได้ไม่มากก็น้อย…อีก 30 ปีจากนี้ เราคงจะได้เห็นแบรนด์นำเสนอสิ่งใหม่ๆ พร้อม “ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด”

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…ใครจะไปรู้ คุณอาจถูกจริตกับองค์กรสุดครีเอทีฟแบบบาร์บีคิวพลาซ่า ก็ได้นะ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

แต่ถ้ายังไม่รู้จะหางานอะไรดี? ลองเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com


อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน