4 Cross-Industry Knowledge ความรู้นอกสายงาน HR ที่ต้องมีในปี 2024

ถ้าถามว่าปีนี้ HR ควรพัฒนาทักษะอะไรมากที่สุด? ไอเดียหนึ่งที่อยากให้ลองมองความท้าทายของ HR ในปีนี้ ว่าด้วยเรื่องการต่อยอดความรู้ในสาขาอื่นนำมาใช้กับงานบุคคล เพราะเพียงการทำงานในขอบเขตงานเดิมโดยใช้โดเมนความรู้สาย HR เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหา การพัฒนา การประเมินผล การให้รางวัลและสวัสดิการ เป็นต้น จากนี้ต้องอาศัยความเข้าใจและอัพเดทตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ที่มากกว่าแค่เรื่องบุคคล (Beyong HR Knowledge) แต่จะเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ให้กลยุทธ์และกิจกรรมต่างๆของฝ่ายบุคคลสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจและโจทย์ชีวิตของพนักงานได้จริง โดย 4 สาขาความรู้ที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต (Cross-Industry Knowledge) ได้แก่ :

1 : Metaverse โลกเสมือนจริงใบใหม่ ที่อาจกลายเป็นสถานที่ทำงานแห่งอนาคต

ต่อไปเวลาลงประกาศรับสมัครงาน บริษัทของคุณอาจไม่ได้ตั้งอยู่บน Google Map ของโลกใบนี้อีกต่อไป ห้องประชุมก็อาจไม่ได้อยู่ในโปรแกรม Zoom, Microsoft Team, หรือ Discord แต่อาจจะย้ายไปอยู่อีกจักรวาลหนึ่งที่เรียกว่า Metaverse บนโลกดิจิทัล ถึงแม้จะฟังดูไม่ค่อยเกี่ยวกับ HR สักเท่าไหร่ แต่จริงๆแล้ว สถานที่ทำงานหรือบรรยากาศในการทำงานล้วนแต่เป็นงานของฝ่ายบุคคลที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง

การสร้างความสัมพันธ์และเครือข่าย (Connection) ซึ่งใครๆก็บอกว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานให้ก้าวหน้า เป็นหนึ่งในทักษะของภาวะผู้นำ Mr. A เป็นผู้บริหารที่ชีวิตจริงอาจมีเพื่อนสนิทและพาร์ทเนอร์อยู่ 100 คนตลอดชีวิตการทำงาน

ในขณะที่ Mr. B เป็นพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีเครือข่ายของผู้ติดตามบน Facebook Page อยู่ 100,000 คน แบบนี้หากต้องวัด competency กันแบบเดิมๆ ใครควรจะได้คะแนนสูงกว่ากันในข้อนี้ หากหัวหน้างานและ HR ใช้นโยบายและวิธีการบริหารงานบุคคลเดิมๆก็คงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

2 : Financial Ecosystem การให้รางวัลและค่าตอบแทนในสกุลเงินใหม่

เงินตราบนโลกมีอยู่ทั้งหมดรวมประมาณ 60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินตราที่จับต้องได้ใน ‘โลกจริง’ มีอยู่เพียง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นอกนั้นเป็นเงินตราที่อยู่ใน ‘โลกเสมือนจริง’ ที่มีอยู่มากกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมากกว่า 90% ของเงินตราที่เราครอบครอง อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์

ตอนนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงการเติบโตของ Cryptocurrency หรืออีกชื่อหนึ่งคือ bitcoin คนเริ่มไม่พกเงินสด ใช้บริการทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆจากสกุลเงินแบบ Cryptocurrency เมื่อมองแบบนี้แล้ว หากองค์กรยังคงจ่ายค่าตอบแทน สวัสดิการ หรือให้รางวัลในรูปแบบตัวเงินหรือ Stock Option แบบเดิมเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ “โลกอนาคต” ที่เรามักพูดกันว่าอนาคต แต่ที่จริงมันเริ่มมาสักพักแล้วและไม่ได้ไกลตัวเลย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโด ซื้องานศิลปะ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ผ่านสกุลเงินดิจิทัล ก็มีข่าวอัพเดทออกมากันเป็นช่วงๆ

คำว่า “ผลงาน” หรือ “สินค้า” ก็ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่พนักงานส่งมอบให้บริษัทแบบเดิมอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงผลงานดิจิทัล เพราะมี NFT (Non- Fungible Token) เป็นอีกสินทรัพย์ใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในตอนนี้ ซึ่งหมายถึงของที่มีความเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร ไม่สามารถทดแทนกันได้ ไม่สามารถแบ่งซื้อเป็นหน่วยย่อยๆได้ ซึ่ง NFT เป็นเหมือนเอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของชิ้นงานรูปใหม่ที่อยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน และมีมูลค่าในรูปแบบโทเคน เช่น เรามีผลงานหนึ่งชิ้น อยากจะขายให้คนทั่วโลกก็ทำได้ง่ายดายและมีมูลค่าเพิ่มได้ง่ายๆชั่วข้ามคืน เมื่อรู้แบบนี้แล้ว HR จะยังกำหนดรูปแบบการประเมินผลงานหรือให้ค่าตอบแทนแบบเดิมได้อย่างไร ก็จำเป็นต้องศึกษาและวางแผนสำหรับอนาคตที่กำลังมาถึงในรูปแบบองค์กร

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังช่วยให้องค์กรไม่สะดุดเวลาจ่ายเงิน ต่อไปหากจะบอกพนักงานว่าวันนี้ธนาคารหยุดต้องเลื่อนจ่ายเงินเดือนออกไปก่อน อาจพูดแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะองค์กรและตัวคุณจะถูกมองว่าล้าหลัง เพราะโลกแห่งเทคโนโลยีนี้ ไม่เพียงเปลี่ยนกระบวนการหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของคนให้ “ไร้ขีดจำกัด” อีกด้วย

3 : Economics & Social สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อทัศนคติของคนทำงาน

สภาพเศรษฐกิจและโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป พนักงานคนหนึ่งอาจเริ่มงานด้วยการเป็นนักการตลาด ถนัดสร้างแบรนด์และทำโฆษณาทางโทรทัศน์ แต่ผ่านมาไม่กี่ปีก็ต้อง reskilll ตัวเองไปทำการตลาดบนโลกดิจิทัลและ e-commerce ด้วยทักษะ digital marketer ดังนั้น HR จำเป็นต้องรู้ว่า แต่ละสายงานจะ evolve หรือมีวิวัฒนาการไปอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถสรรหาคนที่มีความรู้และทักษะ วางแผนการพัฒนา และวางแผนการเติบโตก้าวหน้าได้อย่างทันสมัยตอบโจทย์องค์กรและคนเก่ง ๆ ที่อยากร่วมงานด้วย Career Growth ของแต่ละคนก็จะมีนิยามที่เปลี่ยนไปและมีมิติมากขึ้น

ดังนั้นสมัยนี้ HR จำเป็นต้องรู้ Technical ของสายงานที่ตนเองให้บริการอยู่ มากพอๆกับผู้ที่อยู่ในสายงานนั้นๆโดยตรง คำบรรยายลักษณะงาน (job description) ก็ต้องเปลี่ยนตามวิวัฒนาการ ผู้บริหารและหัวหน้างานต้องแข่งกันด้วยความเร็วในการปรับตัว HR ก็ยิ่งต้องเดินให้เร็วกว่าเช่นกัน

ปรากฎการณ์ K-Shape ของรายได้ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม คนรวยก็รวยขึ้น คนที่จนก็จนลง (เปรียบเสมือนขีดขึ้น-ลงของตัวอักษรเคในภาษาอังกฤษ) ซีอีโอในบริษัทที่ปรับตัวสู่ดิจิทัลได้ และเดิมได้เงินเดือนสูงมากอยู่แล้วก็ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนพนักงานระดับปฏิบัติการที่ฐานเงินเดือนต่ำ อยู่ในบริษัทที่สถานการณ์ย่ำแย่ ก็อาจถูกเลย์ออฟหรือลดเงินเดือน ทำให้เกิดช่องว่าง (Gap) มากขึ้นไปอีก ความรู้ที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่ HR ควรมีติดตัวไว้เพื่อนำไปปรับใช้ต่อการวางแผนค่าตอบแทนตามมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) สวัสดิการ หรือแม้กระทั่งแผนอัตรากำลังคนในปีนี้

4 : Digital Marketing & MarTech การใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลในการสร้างแบรนด์นายจ้าง

“The Great Resignation” ยังคงเป็นความท้าทายของ HR ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก Generation Z ที่อยากทำงานบน Gig Economy เป็นฟรีแลนซ์ที่มีตัวตนและมีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น ไม่ใช่แค่พนักงานคนหนึ่ง คนทำงานวัยกลางคนที่อยากมี Flexibility ในการเลือกสถานที่และเวลาทำงานของตัวเอง

จนมีผลสำรวจว่าหากองค์กรใดจะให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตามเดิม 100% จำเป็นต้องเตรียมรับมือเพราะพนักงานจะเตรียมลาออกกันเป็นแถว ผู้บริหารที่ต้องการเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น และเลือก shift priority ในชีวิตหรือแม้กระทั่ง shift career ของตนเอง มาหลายคนจึงเลือกที่จะหาโอกาสใหม่ๆให้กับตัวเองแม้จะทำผลงานได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

แล้วเกี่ยวอย่างไรกับ Digital Marketing? ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักได้คาดการณ์ว่า การสร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Brand) จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน เพราะองค์กรอยากรักษาคนเก่งไว้ใช้ในยามจำเป็น แต่บางช่วงก็จำเป็นต้องเลย์ออฟ ลดขอบเขตงาน ลดโบนัส หรือลดเงินเดือน ทำให้พนักงานเข็ดขยาดกับบริษัท ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องสร้างแบรนด์รักษาความสัมพันธ์กับฐานคนเก่งเอาไว้ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่า เดือนหน้าธุรกิจอาจกลับมาเดินหน้าอีกครั้งและต้องการคนเก่งกลับมาทำงานมากขึ้นก็ได้ แต่ตอนนี้ติดๆดับๆอยู่ตลอด

ดังนั้น ความรู้และเครื่องมือทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็น Digital Marketing, MarTech, Customer Relationship Management (CRM) ได้เปลี่ยนเป็นอาวุธของ HR ที่จะนำมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มคนทำงานผ่านโลกออนไลน์ การสร้างเว็บไซต์สำหรับงาน การสร้างเพจเฟสบุค การทำอีเมลมาร์เกตติง การสร้างไลน์ออฟฟิเชียล หรือแม้กระทั่งการยิงแอดโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

แบบเดียวกับที่ใช้กับลูกค้าผู้ที่เป็นเสมือนพระเจ้าของธุรกิจ กลุ่มคนทำงานเหล่านี้ก็เป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญขององค์กรจะต้องรักษาไว้เพื่อที่จะเดินต่อไปแม้ในยามวิกฤต

การสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร (Employee Engagement) ที่คุณอาจไม่เคยเจอหน้ากันตัวเป็นๆมาก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจต้องใช้วิชาที่ได้มาจากความรู้ข้ามสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบันเทิง ดูว่าวิวัฒนาการของการสร้างความบันเทิงและการมีส่วนร่วมไปยังคนทั่วโลกได้แม้ไม่เคยเจอหน้ากันเขาทำกันอย่างไรบ้าง

โดยไม่ burnout ทำไมคนดูซีรี่ย์ได้เป็นวันๆโดยไม่เหนื่อย แต่ทำงานผ่านหน้าจอกลับเหนื่อยล้า HR อาจวิเคราะห์และหยิบเทคนิคบางอย่างสำหรับคนทำสื่อดิจิทัล เช่น Youtube, Podcast, ระบบ Subscription, ระบบการให้ดาว การ donate หรือให้ coin กับคอนเทนต์ที่ชื่นชอบบนโลกเสมือนจริงมาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมในองค์กรหรือโปรแกรมพัฒนาบุคลากรให้น่าสนใจได้มากขึ้น

.

.

ความรู้ใน 4 เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ Beyond HR (Cross-Industry Knowledge) ที่ไม่รู้ไม่ได้ซึ่งรวมถึงความรู้และทักษะในศาสตร์ของข้อมูล (Data Science) ที่เป็นทักษะที่จะทำให้วางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของมนุษย์ เพื่อรับมือกับ Future Workplace ในปี 2022 นี้ และส่งมอบมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ผลักดันให้องค์กรและพนักงานเติบโตไปพร้อมๆกันด้วยความรู้นอกกรอบ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Khon At Work

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Jeff Bezos
เลิกเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ด้วยประตูสองบานของ Jeff Bezos เทคนิคการตัดสินใจที่ผู้บริหารใน Amazon ถูกสอนให้ใช้
1. เวลาตัดสินใจอะไรไม่ได้ อาจไม่ใช่เพราะว่าเราตัดสินใจได้ไม่ดี แต่เราหารู้ไม่ว่าเราไม่เคยแยกมากกว่าว่าการตัดสินใจไหนที่อนุญาตให้เรา ‘ตัดสินใจผิดพลาด’ ได้...
2025 ai
รวม 10 AI น่าใช้ประจำปี 2025 มีเอาไว้พนักงานออฟฟิศทำงานคล่องขึ้นแน่นอน
Work smarter, not harder ด้วย AI Tools เหล่านี้ จดเอาไว้! ฝึกใช้ ทำงานง่ายขึ้นแน่นอน 1. ChatGPT AI ChatBot ที่สามารถโต้ตอบและตอบคำถามได้อย่างเป็นธรรมชาติ...
mindset
10 Mindset สร้างความแตกต่าง สู่ความสำเร็จในที่ทำงานก่อนใคร
ในโลกที่แข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ความรู้และความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวอาจไม่พาเราไปได้ไกลเท่าที่หวัง สิ่งที่แยกคนประสบความสำเร็จออกจากคนทั่วไปอย่างแท้จริงคือ...