Hybrid Work มองให้เป็นเรื่องธรรมดา
ในเมื่อช็อปปิ้งยังมีออฟไลน์-ออนไลน์ แล้วทำไมทำงานเราจะแบ่งทำทั้งที่บ้าน-ที่ออฟฟิศไม่ได้?
ช่วงสถานการณ์โควิดหนักๆ เราคุ้นเคยกับการ Work From Home ทำงานที่บ้านกันแทบจะ 100% แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอหลายคนก็เริ่มประสบปัญหาว่า การทำงานที่บ้าน 100% (หรือ 80-90%) อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
หลายคนเริ่มรู้สึกขาดสังคม ขาดการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม ขาดการสร้างทีม ขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในแบบที่การเข้าออฟฟิศให้ได้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จะต้องมาเจอกันบ้างเป็นระยะๆ และงานบางประเภทเหมาะกับการทำงานแบบเจอหน้าค่าตากันมากกว่า
ยุคนี้จึงมีการเลือกจุดตรงกลางด้วยนโยบาย Hybrid Work เช่น เข้าออฟฟิศ 3 วัน และทำงานที่บ้าน 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นบาลานซ์ที่ลงตัว
อันที่จริงประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่มาเร็วไปเร็ว แต่เป็นมาตรฐานใหม่ความคาดหวังใหม่ในการทำงาน(โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่)ไปแล้ว!
Work-Life Balance (กว่าเดิม)
ผลสำรวจจาก PWC พบว่าบริษัทกว่า 43% นำเสนอ Hybrid Work ที่บาลานซ์ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต แถมพ่วงด้วยสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น วันลาเพิ่ม
สอดคล้องกับการสำรวจของ The Deloitte Global ว่า Gen Z กว่า 49% ต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เรากำลังอยู่ในยุคที่ผู้คนทุกภาคส่วนเรียกร้องประเด็นทางสังตมเรื่องสิทธิความเท่าเทียม การปกป้องแรงงาน จนไปถึงการก่อตั้งสหภาพแรงงาน (Labor union) ของหลายองค์กร
ยิ่งข่าว “คาโรชิ” หรือการทำงานจนตาย กลับมาเป็นประเด็นใหญ่ในช่วงต้นปี คนทำงานหลายคนเลยขอบาย ถ้าจะต้องใช้งานตัวเองหนักเกินไป ทำงานเพื่อหาเงินมาจ่ายค่ารักษาตัวเอง
บริษัทที่จะดึงดูดคนเก่งให้มาร่วมงานได้นานๆ ต้องให้ได้ทั้งเงินและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ความแฟร์ในการทำงาน และสวัสดิการรอบด้านต่างๆ
เช่น แทนที่จะทุ่มเงินไปกับค่าอาหารกลางวันและขนมของกินเพียบในออฟฟิศ องค์กรอาจนำมา redesign ให้เป็น Well-being program เช่น คลาสโยคะหลังเลิกงานให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะกลุ่ม Talents ที่มองว่าเรื่องนี้มี value กับชีวิตการทำงานมากกว่าของกินไม่อั้นซะอีก
ออฟฟิศที่ต้องทำงานกับคนทุกเจนเนอเรชัน
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำงาน ที่เรามีคนอย่างน้อย 5 เจเนอรชั่นในออฟฟิศเดียวกัน ตั้งแต่ผู้บริหาร Baby boomer จนไปถึงเด็กจบใหม่ Gen Z หรือแม้กระทั่งเด็กมัธยมในบางอาชีพ
เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Multi-generation Workforce ออฟฟิศที่เต็มไปด้วยคนทุกวัย และเรารู้ดีว่าคนแต่ละเจนเติบโตมาในสังคมและทัศนคติที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละเจนมีความคิด ความเชื่อ คาแรคเตอร์การทำงานที่ต่างกันเกือบจะสุดขั้ว เช่น
- Baby boomer – ประสบการณ์สูง ถนัดทำเองมากกว่าใช้เทคโนโลยีช่วย
- Gen Y – ชอบทำงานเป็นทีมและมองหาความประนีประนอม
- Gen Z – ยืนหยัดในจุดยืนตัวเองและชอบทำงานด้วยตัวเอง
องค์กรจึงต้องหาทางบริหารจัดการความหลากหลายและลดความขัดแย้งระหว่างวัย
AI คือ เพื่อนร่วมงานหลัก
การมาถึงของ ChatGPT คือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเทคโนโลยี AI ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานไปแล้ว ทีมต้องกระตุ้นให้ทุกคนเรียนรู้การใช้งานและนำมาทุ่นแรงการทำงาน
ตัวอย่างเช่น เราอาจให้ ChatGPT วางไกด์ไลน์คอนเทนต์ให้ ก่อนที่เราจะเป็นฝ่ายลงดีเทลและเชื่อมโยงเนื้อหาเข้าหากันด้วยภาษาที่ถูกจริตคน หรือใช้โปรแกรม DALL-E 2 ในการช่วยนำเสนอไอเดียรูปภาพ artwork สวยๆ ในเวลาอันรวดเร็ว
ในเมื่อเรามี AI เหล่านี้ช่วยประหยัดเวลาการทำงานได้มาก แล้วจะทำงานแบบเดิมไปทำไม? บรรดาหัวหน้างานหรือผู้บริหารต้องรีบออกแบบนโยบายการทำงานใหม่ที่ให้ AI เหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแก่ทีมในเวลาที่น้อยลง
สกิลคนสำคัญมาก
ด้วยความที่ Hard skills หลายอย่างในปัจจุบันถูกเทคโนโลยีทำแทนหรือช่วยทุ่นแรงไปได้บ้างแล้ว เช่น ให้ ChatGPT มาช่วยวางโครงเรื่องการเขียนบทความ SEO โฟกัสตอนนี้จึงเริ่มเบนเข็มไปทาง Soft skills…หรือเจาะจงลงไปกว่านั้นก็คือ People skills ต่างหาก
อย่างที่รู้ ๆ กันว่า เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น การบริหารคนมีความยากและท้าทายกว่าบริหารงานซะอีก กลุ่ม Talents ที่ทำงานเก่งจึงหมายถึงเป็นคนที่เก่งเรื่องคน มองคนออก ใช้คนถูก รู้วิธีบริหารความสัมพันธ์ในทีมอย่างราบรื่น
และนี่คือเทรนด์การทำงานในออฟฟิศที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในปี 2023 ที่ทุกองค์กรต้องอยู่กับมัน
รีบเปลี่ยนตัวเอง…ก่อนคนอื่น
รีบปรับตัว…เพื่อคว้าโอกาสดีๆ ไปก่อนใคร!
อ้างอิง :