Productive Walk : คิดสร้างสรรค์ได้ง่ายๆ แค่ออกเดิน !

Productive Walk
ชาวอเมริกันนั่งเฉลี่ย 9.3 ชั่วโมง/วัน พนักงานส่วนใหญ่นั่งประชุมราว 4 ชั่วโมง/สัปดาห์ CEO ส่วนใหญ่นั่งประชุมราว 2.5 ชั่วโมง/วัน

ตัวเลขนี้ในชาติอื่นทั่วโลกก็เยอะไม่แพ้กัน พวกเราใช้เวลาไปกับการนั่งและไม่เคลื่อนไหวมากไปรึเปล่า? นอกจากไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังไม่ดีต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

และหารู้ไม่ว่าแค่การลุกขึ้นมา “เดิน” ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และนำไปสู่คุณภาพชีวิตของเราโดยรวมที่ดีขึ้นได้!!

How? การเดินมาเกี่ยวข้องยังไงกับการงาน ( Productive Walk )

มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ เราใช้ร่างกายและสมองในการทำงาน ทุกย่างก้าวของการทำงานหมายถึงทุกย่างก้าวของร่างกายที่ใช้ไปในเวลาเดียวกัน

แต่พฤติกรรมคนยุคปัจจุบันมักเป็นแบบ “Sedentary Activity” หรือกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว นั่งทำงานกับโต๊ะ นั่งรถติดในรถ 3 ชั่วโมง นั่งประชุมยาวๆ 6 ชม. นอนเล่นมือถือ

ซึ่งพฤติกรรมโลกยุคใหม่นี้มันไม่สอดคล้องกับร่างกายที่มนุษย์วิวัฒนาการมา ร่างกายเราถูกออกแบบมาให้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเราไม่เคลื่อนไหว เราจะป่วยอ่อนเพลียจนโรคภัยถามหา (อีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมคนเราต้อง ‘ออกกำลังกายตลอดชีวิต’)

การเปลี่ยนแปลงต้องกลับไปสู่พื้นฐานที่ร่างกายมนุษย์วิวัฒนาการมา นั่นคือการเดิน(สองขา)

วารสารการแพทย์มากมายเผยว่า การเดินเฉลี่ยวันละเพียง 30 นาทีช่วยลดโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อม, มะเร็งเต้านม, และโรคหัวใจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

นักวิจัยจาก Stanford University เผยว่า จะยิ่งดีมากถ้าคุณสามารถเดินอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ มันมอบความผ่อนคลายให้คุณ สามารถชะโลมจิตใจ ลดความหยาบกระด้างของเมือง…และของจิตใจคุณ

นักวิจัยกลุ่มนี้ทดลองสแกนสมองของผู้เข้าร่วมการทดลองหลังจาก เดินในสวน VS. เดินในเมือง(ที่พลุกพล่าน) เป็นเวลา 90 นาที พบว่าเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงถึงการเกิดอารมณ์แง่ลบ พบในคนเดินในเมืองมากกว่าคนเดินในสวนอย่างมีนัยยะสำคัญ

อีกผลวิจัยในปี 2014 ที่ทำกับนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 176 คนพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง เดิน VS. นั่ง พบว่าการเดินช่วยกระตุ้น “ความคิดสร้างสรรค์” มากกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ถึง 60%!!

Productive Walk

สมองคนเราโฟกัสได้เต็มที่ไม่เกิน 90-120 นาที ก่อนต้อง “พัก” (Rest) และการเดินเป็นการพักชั้นเลิศรูปแบบหนึ่ง จากผลวิจัยระบุว่า การเดินเพียง 12 นาทีก็สามารถปรับอารมณ์เราให้ดีขึ้นได้แล้ว และยังกระตุ้นสมองให้กลับมาโฟกัสสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีสติขึ้น

โดยจะดีมากถ้าหากเดินแบบไม่คิดอะไรในหัวได้ (Thoughtless Walk) หรือเราอาจเรียกว่า ‘เดินทำสมาธิ’ ก็ได้ ปล่อยสมองให้ว่างเปล่า หยุดฟุ้งซ่าน อยู่กับปัจจุบันขณะ…หลายคนอาจพบว่าไอเดียบางอย่าง ‘แว่บ’ เข้ามาในหัวช่วงเวลามหัศจรรย์นี้

นอกจากนี้ การเดินยังทำให้เรารับรู้ความเป็นไปของสภาพสังคมรอบตัว (ไม่ใช่แค่นั่งรถผ่าน) ออกมาเดินสำรวจข้างถนนบ้าง เราอาจเข้าใจชีวิตอันหลากหลายของผู้คนมากขึ้น นำไปสู่การออกแบบสินค้า-บริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น

ถ้าอยากหาข้อสรุปที่ใกล้ตัวที่สุด ให้คิดซะว่าการเดินช่วยลดอาการ “Office Syndrome” หรือกลุ่มของโรคที่เกิดจากการทำงานที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น นั่งโต๊ะทำงานนานหลายชั่วโมงโดยไม่ได้ลุกไปไหน

การเดินของเหล่า CEO 

Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Facebook ขึ้นชื่อในเรื่อง “Walking Meeting” หรือประชุมไป-เดินไป ซึ่งเขาได้ผสานมันมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในชีวิตประจำวันมานานแล้ว

ตามที่สำนักข่าว Bloomberg รายงาน การเข้าซื้อ WhatsApp ของ Facebook ด้วยมูลค่ากว่า 19,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เกิดขึ้นหลัง Mark Zuckerberg และผู้บริหารระดับสูงของ WhatsApp ทำการเดินไป-ประชุมไปหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมาถึงตอนนี้เรารู้แล้วว่า นี่เป็นดีลซื้อขายที่คุ้มค่ามากของ Facebook

Sundar Pichai ซีอีโอของ Google เผยว่า “เวลาจะคิดไอเดียใหม่ๆ…ผมจะเริ่มออกเดิน”

Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group ยังกล่าวว่า “หลายครั้งที่ผมตัดสินใจและปิดดีลธุรกิจระหว่างการเดิน”

Productive Walk

ไม่ใช่แค่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่การเดินยังถูกนำไปใช้กับบริษัทขนาดเล็ก-กลางด้วย

คุณ Susan Baroncini-Moe ซีอีโอจาก The BounceBack Artist บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านโค้ชชิ้ง เผยวัฒนธรรมองค์กรอันแตกต่างของเธออย่างหนึ่ง คือ “You Meet, You Move.” ทุกการประชุมทางไกลต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายทางใดทางหนึ่ง การประชุมเริ่มต้นด้วยการที่แต่ละคนบอกกับคนอื่นว่า…กำลังเดินสวนอยู่-วิ่งบนลู่วิ่งอยู่-ปั่นจักรยานอยู่

เธอเผยว่าไม่ได้ทำเอาเก๋ๆ ตามกระแส แต่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนมาแล้ว เพราะการเคลื่อนไหวช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สมองเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อเราเคลื่อนไหวเลือดจะสูบฉีดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น 

ไม่แปลกที่คุณจะได้ยินเสียงคนเข้าประชุมที่นี่ ‘หอบไป-คุยไป’ ซึ่งเธอบอก “นั่นเป็นสัญญาณที่ดี”

การทำงานยุคใหม่ 

อะไรที่มันไม่สอดคล้องกับธรรมชาติร่างกายของมนุษย์จะเริ่มถูกปัดทิ้งไป 

มูลค่าความเสียหายของอาการ Office Syndrome ที่เกิดแก่ตัวบุคคล สังคม และธุรกิจ เป็นตัวจุดชนวนให้คนหันมาใส่ใจเรื่องการเดินและการทำงานที่สอดคล้องกับร่างกายมนุษย์มากขึ้นแล้ว

Apple Park ฐานบัญชาการใหญ่ของบริษัท Apple มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท (สูงกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ) ก็ถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ไพศาล เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ จัดอีเว้นท์ วิ่ง และ…เดิน

เราเริ่มเห็นเทรนด์นี้มากขึ้นแล้วใน ‘มิติ’ อื่น

ออฟฟิศสมัยใหม่หลายแห่ง มีการผนวกศาสตร์การออกแบบที่รองรับการเดินและปฏิสัมพันธ์ของพนักงานเผื่อไว้ตั้งแต่โครงสร้างของตึกแล้ว ดีไซน์ให้เดินได้ต่อเนื่อง เดินหน้ากระดานได้หลายคน ทัศนวิสัยน์มองเห็นทะลุไปไกล มีพื้นที่สีเขียวรายล้อม…จากแต่ก่อนที่พนักงานมักมาพบปะคุยกันแค่ตรง…ตู้กดน้ำ (Water-Cooler Chat)

Google สร้างห้องนอนที่มืดสนิทในออฟฟิศให้พนักงานพักผ่อนเมื่อง่วง (เพลียก็นอน!) รวมถึงให้พนักงานออกแบบตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง (บอกลา 9-5!)

เราเดินทางมาไกลพอแล้ว ถึงตรงนี้เราตระหนักดีแล้วว่าเรื่องเรียบง่ายอย่างการเดิน…พาเราไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงๆ

ถึงเวลาตัวคุณพิสูจน์เองโดยการออกเดินแล้ว..

.

.

และจะดีมาก ถ้าคุณเดินไป-ทำ…“แบบประเมินอาชีพ” ไปจาก CareerVisa ซึ่งช่วยโอกาสให้คุณเจออาชีพในฝันที่ใช่! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน