7 “ความสะเพร่า”ที่ผู้นำมือใหม่มักพลาดท่า

ความสะเพร่า
หลบหลีกกับดักเหล่านี้ทุกวิถีทางซะ (โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้นำมือใหม่!)

ไม่ว่าคุณจะไต่เต้าในองค์กรจนขึ้นมาถึงจุดสูงสุด หรือลาออกมาเป็นผู้ประกอบการไฟแรงบริหารงานด้วยตัวเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าต่อไป “ภาวะผู้นำ” คือทักษะที่คุณต้องเชี่ยวชาญให้ได้โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดแม้เพียงครั้งเดียวในฐานะผู้นำ…อาจนำพาให้ทั้งองค์กรล่มจมได้ โดยเฉพาะ “7 ความสะเพร่า” เหล่านี้ที่ผู้นำมือใหม่มักพลาดท่ามานักต่อนักแล้ว

อันที่จริง บทความนี้ไม่ได้เหมาะสมเฉพาะกับผู้นำมือใหม่เท่านั้น แต่ผู้นำรุ่นเก๋าก็ควรอ่าน(และแชร์!) เพื่อเตือนสติตัวเองอยู่เสมอ การใส่ใจรายละเอียดเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้คุณโดดเด่นแตกต่างจากผู้นำธรรมดาทั่วไป

ความสะเพร่า #1: รู้ดีไปทุกเรื่อง!

ผู้นำมือใหม่พึ่งเข้ารับตำแหน่งย่อมถูกคาดหวังและกดดันเป็นธรรมดาให้ต้องรอบรู้มีวิสัยทัศน์ ใครถามอะไรมาต้องตอบได้ จนไปถึงการมีอีโก้บอกลูกน้องว่า “ไม่ต้องถาม…แค่ทำตามที่พูดพอ!” 

ซึ่งนำไปสู่การอยู่ในกรอบ “กะลา” ของตัวเอง ท้ายที่สุด คุณจะไม่ได้ฟีดแบคที่จริงใจจากลูกน้อง เพราะลูกน้องคิดว่าพูดอะไร(ไม่ตรงใจ)ไปก็ถูกคุณปัดตกอยู่ดี

เลิกทำเป็นรู้ดีไปเสียทุกเรื่องซะ แม้คุณจะเป็นผู้นำแต่ก็สามารถพูดได้อย่างเปิดอกว่า “เรื่องนี้ ผม/ดิฉัน ไม่รู้…คิดว่าต้องทำยังไงบ้าง?”

ความสะเพร่า #2: ไม่ทำตามกฎ

หนึ่งใน “อภิสิทธิ์” ของเหล่าผู้นำอาจมาในรูปแบบ ห้องทำงานใหญ่โตและที่จอดรถประจำส่วนตัว หรือแม้แต่การออกแบบตารางเวลาทำงานเองได้ อยากมาและกลับเมื่อไรก็ได้ตามใจฉัน

เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิด แต่จะเริ่มผิดก็ต่อเมื่อคุณใช้อภิสิทธิ์ในทางที่ผิด เช่น พอไม่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นเวลา เลยเอาเวลาไปเที่ยวกับครอบครัวแทนที่จะทำงาน โดยเฉพาะเมื่อผลงานยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้กับบริษัท

ถ้าเป็นเช่นนั้นล่ะก็ พนักงานจะเริ่มสัมผัสถึงความไม่ยุติธรรม รู้สึกได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เคารพ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด

เพื่อความเสมอภาคระยะยาว คุณในฐานะผู้นำควรรับผิดชอบในตัวเอง และทำตัวให้เท่าเทียมกับพนักงานคนอื่นๆ อย่าโชว์อภิสิทธิ์ที่มีอย่างออกหน้า อย่าดูถูกคนอื่นที่ไม่ได้มีดีอย่างตน อย่าลืมตัวจนเผลอทำอะไรไม่เหมาะสม

ความสะเพร่า #3: ไม่ยอมรับผิด!

มีสุภาษิตอังกฤษหนึ่งกล่าวว่า “เพราะผิดพลาดจึงเป็นมนุษย์”

แต่ผู้นำมือใหม่มักมีทัศนคติผิดๆ ว่า “ผู้นำต้องเป็นคนเพอร์เฟ็กต์” ต้องเป็นยอดมนุษย์เหนือคน เมื่อมีความคิดนี้ฝังอยู่ในใจ เวลาตัดสินใจอะไรผิดพลาดก็มักพยายามบอกปัดไม่ยอมรับผิดแต่โดยดี (บางคนถึงขั้น “ปกปิด” ความผิด!)

ควรทำความเข้าใจใหม่ว่า ผู้นำก็เป็นคนเหมือนกันที่ทำผิดได้-ตัดสินใจพลาดได้ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เคยพลาดมาแล้วทั้งนั้น ถ้าคุณไม่คิดเช่นนี้…เชื่อเถอะ คุณเป็นผู้นำได้อีกไม่นานหรอก

คุณอยากจะเป็น “ผู้นำที่ทุกคนเกลียด” หรือ “ผู้นำที่ทุกคนรัก”

ถ้าอยากเป็นอย่างหลัง สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเกิดความผิดพลาดจากตัวเองคือพูดคำว่า “ผม/ดิฉันขอโทษ”

สะเพร่า #4: เข้าข้างเด็กตัวเอง

ยอมรับมาซะดีๆ คุณมี “เด็กในสังกัด” ใช่ไหม? คนที่ถูกจริตและอยากสนับสนุนเต็มที่ การมีลูกน้องที่ชื่นชอบไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันจะเสียหายก็ต่อเมื่อคุณเริ่มเอนเอียงเข้าข้าง

  • บางครั้งเค้าคนนั้นสมควรถูกตำหนิต่อว่า…แต่คุณกลับใจดีเพิกเฉยปล่อยๆ ไป
  • บางครั้งทั้งทีมควรได้รับคำชม…แต่คุณกลับชมเด็กในสังกัดออกนอกหน้า

เรื่องนี้นำไปสู่ปัญหา “การเมือง” ภายในองค์กรแน่นอน

ในฐานะผู้นำองค์กร คุณต้องหักห้ามใจและแยกแยะความสัมพันธ์ มองเนื้องานอย่างตรงไปตรงมา ผิดก็ว่าไปผิด เมื่อควรตำหนิก็ต้องทำ อย่าให้ใครมากล่าวหาได้ว่านี่คือ “เด็กของนาย”

สะเพร่า #5: เก่งแต่พูด

ยังมีทัศนคติเหล่านี้อยู่ในวงการผู้นำมือใหม่ที่ว่า “ผู้นำคือคนที่พูดขึ้นมาคนแรก” หรือ “ขอแค่ให้ได้พูดอะไรออกไปบ้างก็ยังดีกว่านั่งอยู่เงียบๆ อย่างสงบเสงี่ยม”

สรุปคือ ยิ่งพูดเยอะ-ยิ่งดี…ขอให้พูดมากเข้าไว้ก่อน 

ทั้งที่ในความเป็นจริง พูดแค่ใจความสั้นๆ และรับฟังอย่างลึกซึ้งตั้งอกตั้งใจต่างหากที่ชนะใจและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกทีมได้

มีผลวิจัยเปิดเผยว่า ผู้นำที่เป็น “นักฟังที่ดี” ได้รับความ “ไว้เนื้อเชื่อใจ” จากลูกน้องมากกว่าผู้นำที่พูดมาก และตัดสินใจได้เฉียบแหลมกว่าเนื่องมาจากรับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายมุมมอง

อย่าลืมนะว่า คนเรามี 2 หู 1 ปาก…รู้แล้วใช่ไหมว่าควรใช้อันไหนมากน้อยกว่ากัน

สะเพร่า #6: ทำเองทุกเรื่อง

ทุกเรื่องยิ่งใหญ่ล้วนมีเบื้องหลังถูกสร้างสรรค์มาจากทีมทั้งนั้น (ไม่ได้ทำคนเดียว)

ผู้นำมือใหม่มักมีปัญหาในการ “แจกจ่ายงาน” เรียงลำดับความสำคัญงานไม่ถูก ไม่รู้ควรมอบหมายใครดี ควรให้อำนาจมากแค่ไหน…จึง “ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง” คนเดียวมันซะเลย!

แต่ในฐานะผู้นำจะมีประสิทธิภาพกว่ามากถ้ารู้จักมอบหมายกระจายงานออกไปให้คนที่ใช่ เพราะนั่นคือหน้าที่หลักของคุณ (บริหารคน)

จงขอความช่วยเหลือคนอื่นบ้าง พึ่งพาคนอื่นบ้างเป็นครั้งคราว…มันไม่ได้ทำให้คุณดูอ่อนแอแต่อย่างใดหรอก

สะเพร่า #7: มีแต่ผมเท่านั้นที่ทำได้!

นี่มักเป็นกับดักสุดคลาสสิกโดยเฉพาะเหล่าผู้ก่อตั้งองค์กรที่เคยก้มหน้าก้มตาทำทุกอย่างด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง จนลืมมิติของการเทรนลูกน้องไปว่าบางคนอาจมีความสามารถและศักยภาพที่ทำได้ดีกว่าคุณเสียอีก (ถ้าได้รับโอกาส)

เมื่อมีงานไหนสำคัญเข้ามา ผู้นำประเภทนี้มักทำตัวเป็นฮีโร่ และลงไปพัวพันทำให้ระบบงานเสียกระบวนหมด จะมีประสิทธิภาพกว่าจะมอบหมายงานให้หัวหน้าทีมอีกทีหนึ่ง และตัวเองออกมาบริหารคอยดูอย่างห่วงใยอยู่ห่างๆ ผันตัวเองมาเป็นโค้ชคอยชี้แนะและสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องมีวิสัยทัศน์ตรงกับเรา

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…คุณพร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วันแล้วหรือยัง? >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน