Exponential Growth ความสำเร็จในอดีต 100 ปี…เกิดได้ในปีเดียว !

Exponential Growth
ด้วยเทคโนโลยี ด้วยโลกทุนนิยมที่หมุนเร็วกว่าเก่า…ทำให้ยุคนี้บางธุรกิจโตแบบก้าวกระโดดเป็นว่าเล่น มันไม่ใช่การเดินทีละก้าวอีกต่อไป แต่เป็นการนั่งจรวดแทน ความสำเร็จที่เราใช้เวลาสร้าง 50 ปีเมื่อครั้งอดีต อาจเกิดขึ้นได้ใน 5 เดือนในอนาคต เราลองมาสำรวจความมหัศจรรย์ของความสำเร็จแบบก้าวกระโดดกัน

Exponential Growth คืออะไร?

Exponential Growth ในโลกธุรกิจหมายถึงการเติบโตที่เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในแต่ละช่วงเวลาการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีที่ขยายฐานลูกค้าและรายได้อย่างรวดเร็ว หรือธุรกิจที่ใช้โมเดลแพลตฟอร์มที่เมื่อมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นจะดึงดูดผู้ใช้อื่นๆ อย่างรวดเร็ว การเติบโตแบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยอย่างนวัตกรรม ความต้องการตลาดสูง หรือเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน

Apple Watch

Rolex / Patek Philippe / Cartier / OMEGA / Longines…เหล่านี้ล้วนคือแบรนด์นาฬิกาหรูระดับโลกที่หลายคนถวิลหา เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีนาฬิกามาเป็นร้อยๆ ปี

การเปิดตัวของ Apple Watch ในปี 2015 ถูกครหาจากเหล่าแบรนด์นาฬิกาหรูว่าเป็นเพียงของเล่น ไม่สามารถเทียบชั้นตนได้ และไม่มีทางที่จะขายไปได้มากกว่าตน

แต่ผลรายงานจาก Strategy Analytics ในบอสตัน เผยว่า Apple Watch ถูกส่งมอบไปกว่า 30 ล้านเรือนในปี 2019 มากกว่าแบรนด์นาฬิกาหรูสวิส ‘ทุกแบรนด์รวมกัน’ ซึ่งอยู่ที่ทั้งหมดราว 21 ล้านเรือน (นอกจากนี้ยังพ่วงตำแหน่ง “อุปกรณ์สวมใส่” ที่ขายดีที่สุดไปในตัว)

Apple Watch เจาะกลุ่มฐานสาวกแอปเปิ้ลและผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีจำนวนมหาศาล มีกำลังซื้อและยินดีจ่าย ใส่ได้หลากหลายโอกาสทั้งเดินเที่ยวข้างนอก ออกกำลังกาย มีฟังก์ชั่นที่วิเคราะห์สุขภาพร่างกาย แถมดีไซน์ทันสมัย เชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์อื่นของ Apple และโลกออนไลน์ได้หลายช่องทาง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่

ไม่น่าเชื่อว่า นาฬิกาหรูที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ต้องมาสยบแทบเท้าต่อหน้านาฬิกาดิจิตอลเกิดใหม่ที่มีอายุแค่ 5 ปี

Apple’s $1 Trillion

บริษัท Apple ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 และต้องใช้เวลาถึง 42 ปีกว่าจะมีมูลค่าบริษัทแตะ $1 Trillion ซึ่งทำสำเร็จได้ในปี 2018

และใช้เวลาอีกแค่ 2 ปี ในการพามูลค่าบริษัทขึ้นมาอยู่ที่ $2 Trillion ขึ้นแท่นบริษัทอเมริกันแห่งแรกที่มาถึงจุดนี้ได้! 

ที่สำคัญ หากเจาะลึกลงไป…อีกหนึ่ง $1 Trillion ที่เพิ่มขึ้นมาเกิดขึ้นในเวลาเพียง 21 สัปดาห์! ของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 ที่บริษัททั่วโลกกำลังเจอกับความยากลำบาก!

การโตระเบิดเริ่มเกิดขึ้นในกลางเดือนมีนาคม ปี 2020 หนึ่งในช่วงที่โควิดระบาดหนักที่สุดในอเมริกาเกิดการล็อคดาวน์เมืองทั่วประเทศ นักลงทุนต่างเอาเงินออกจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และย้ายเม็ดเงินมาลงกลุ่มบริษัทกลุ่มเทคโนโลยี(ซึ่ง Apple เป็นหนึ่งในนั้น)ที่ได้รับผลกระทบน้อยลง 

ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัท Apple ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้เป็นว่าเล่น โดยเฉลี่ยแล้วในช่วงนี้ มูลค่าบริษัท Apple เพิ่มขึ้นมหาศาลถึงวันละ 6,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

Apple เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ว่า กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่กลับโตระเบิดเป็นประวัติการณ์แทน

Musk to Mars

18 มีนาคม 2020 Elon Musk มีทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 24,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

9 มกราคม 2021 Elon Musk มีทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 209,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ!

ถ้าเราบอกว่าภายใน 1 ปี ต้องหาเงินให้ได้ 100,000 ล้านบาท ก็ฟังดูเป็นเรื่องเว่อร์วังจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว (เราจะติดอันดับ 1 ใน 10 คนที่รวยที่สุดในประเทศไทยทันที)

แต่ถ้าบอกว่าภายใน 1 ปี เราต้องหาเงินให้ได้ 5 ล้านล้านบาท! …นี่เป็นเรื่องเหนือจินตนาการ เกินเอื้อมไปกว่าคนส่วนใหญ่ในโลกนี้จะทำได้ แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับ Elon Musk

ทรัพย์สินของ Elon Musk “เฉพาะที่เพิ่มขึ้น”  ในปีเดียว มากกว่าทรัพย์สินคนรวยที่สุดในประเทศไทยที่เพียรพยายามหามาทั้งชีวิตเกือบ 10 เท่า! 

ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างบ้าคลั่ง หลักๆ มาจากราคาหุ้นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของเขาที่ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ในปีนี้ โดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี ราคาหุ้นของ Tesla เพิ่มขึ้นกว่า 743%!

ราคาหุ้นขึ้นเพราะ Tesla สามารถผลิตและส่งมอบรถได้ตามที่คาดการณ์(แม้ดีมานต์จะสูงมากก็ตาม) ประกอบกับนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดที่แน่วแน่มากๆ ของปธน.คนใหม่อย่างโจ ไบเดน ซึ่งอนาคต Tesla คงได้ประโยชน์แน่นอนทางใดทางหนึ่ง

เป็นไปได้ว่าในอนาคต(อันใกล้) อาจมีคลับใหม่ที่เรียกว่า “Trillionaire Club” จะเป็นสมาชิกคลับนี้ได้ คุณต้องมีทรัพย์สินอย่างน้อย $1 Trillion หรือ 30 ล้านล้านบาท..

India’s Missed Call

Image Cr. bit.ly/37JVGif

Valerie Wagoner เป็นเด็กหญิงชาวอินเดียเกิดในครอบครัวยากจน พ่อแม่เธออพยพมาอเมริกาตั้งแต่เธอยังเด็ก ด้วยโอกาสทางการศึกษาที่เปิดกว้างในประเทศนี้ เธอสามารถกัดฟันเรียนจนจบมหาวิทยาลัย และได้รับโอกาสฝึกงานที่ eBay ในด้านการตลาดระหว่างประเทศ ดูแลตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียที่มีประชากรมหาศาล และพบว่านี่คือโอกาสทองที่น่าสนใจ

เธอบินไปสัมผัสอินเดียถึงถิ่นและพบกับวัฒนธรรมหนึ่งที่ทำกันทั้งประเทศอย่างการ “Missed Call” คือโทรติดแต่ไม่รับสาย เช่น เรานัดเจอเพื่อนหน้าห้าง พอเรามาถึงก่อนใครก็โทรหาเพื่อน ปล่อยให้ดัง 2-3 ครั้งแล้ววางสาย แม้เพื่อนรู้ว่าเราโทรมาแต่จะไม่รับ…เป็นอัน ‘รู้กัน’ ว่ามาถึงแล้วนะ (ประหยัดค่าโทรไปในตัว)

วัฒนธรรมการ Missed Call ใช้กับเรื่องอื่นทุกเรื่อง เป็นสัญลักษณ์แทนการ: ขอบคุณ / โชคดีไว้เจอกันใหม่ / คิดถึงนะ / นอนแล้วนะฝันดี ฯลฯ อินเดียมีประชากรเยอะ การ Missed Call จึงเกิดขึ้นวันละมากกว่า 1,000 ล้านครั้ง!

เธอเห็นโอกาสธุรกิจเรื่องนี้จึงก่อตั้งบริษัท ZipDial ขึ้นมา โดยจะไปติดต่อธุรกิจร้านค้าน้อยใหญ่ที่สนใจ(ซึ่งต่อมาครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมมาก) และมอบ “เบอร์พิเศษ” ให้แบรนด์ไปใช้ตามช่องทางต่างๆ 

เมื่อผู้บริโภคเห็นและทำการ Missed Call เบอร์พิเศษนี้(ไม่เสียเงินใดๆ) ระบบจะส่งข้อความโปรโมชั่น ส่วนลด ข่าวสารอัพเดท ลิสท์สินค้าใหม่ๆ จากร้านค้าให้คนโทร

ลูกค้าของเธอไม่ใช่มีแต่รายย่อย แต่รวมถึงยักษ์ใหญ่ด้วย เช่น Unilever / Gillette / Disney / Amazon แต่ละวันมีคนโทรไป Missed Call ที่เบอร์พิเศษจาก ZipDial นี้กว่า 1,000 ล้านครั้ง!

ธุรกิจของเธอเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไม่ถึง 5 ปีจากวันเริ่มต้น เรื่องราวของ ZipDial ไปเตะตายักษ์ใหญ่อย่าง Twitter ที่ต่อมาตัดสินใจซื้อกิจการนี้ไปในมูลค่า 30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เปลี่ยนคนธรรมดาอย่างเธอที่ไม่ได้มีแบคกราวน์โดดเด่นกว่าใคร…ให้เป็นเศรษฐีนีในทันที

“On Clubhouse tonight”

Clubhouse เป็นแอปน้องใหม่เปิดตัวในเดือนเมษายนปี 2020 มีจุดเด่นคือใช้เสียงเท่านั้นในการพูดคุย ไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ จบแล้วจบเลย และต้องถูกเชิญเข้าเท่านั้นถึงจะใช้ได้ เดิมทีแอปนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น ให้โหลดได้เฉพาะ iOS

แต่หลังจาก Elon Musk (อีกแล้ว! 🤣) ทวีตพูดถึง Clubhouse ในเดือนมกราคมปี 2021 ก็ทำให้แอปนี้กลายเป็น Viral ถูกพูดถึงและลองใช้กันทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ความนิยมจะแผ่ขยายมายังเอเชีย เริ่มที่ญี่ปุ่นก่อนเข้าไทยในไม่กี่สัปดาห์ไล่เลี่ยกัน

ภายใน 1 เดือน Clubhouse มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน กลายเป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนหลากหลายประเด็นของบุคคลสำคัญ 

นักลงทุนต่างขนเงินมหาศาลมาลงทุนเพราะเห็นถึงอนาคต โดยตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขึ้นแท่น “ยูนิคอร์น” เป็นที่เรียบร้อย 

Facebook ถึงกับประกาศว่ากำลังพัฒนาฟีเจอร์ที่มีความคล้าย Clubhouse นี้อยู่…แอปที่มาสั่นสะเทือนยักษ์ใหญ่ในรอบหลายปีนี้จริงๆ

.

.

เรื่องราวโตระเบิดทำนองนี้ยังจะมีให้เห็นเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ ของโลกทุนนิยมที่เติบโตขยายตัวแบบทวีคูณ (Exponential Growth)

โอ้กะจู๋ ร้านอาหารสายสุขภาพของคนธรรมดาที่แค่อยากมีผักสะอาดให้แม่ทาน เริ่มต้นปี 2010 ในเชียงใหม่ และขยายสู่กรุงเทพจนได้รับความนิยมล้นหลาม ถึงวันนี้มีมูลค่าบริษัทราว 2,500 ล้านบาท…เป็นตัวอย่างความสำเร็จระดับ SME 

และล่าสุด PTT OR ได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นโอ้กะจู๋แล้วในสัดส่วน 20% เตรียมนำเทคโนโลยี Smart Farm มาเพิ่มผลผลิตและเตรียมขยายสาขาในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ

บริษัท Gulf Energy เริ่มต้นธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถึงปัจจุบันมีมูลค่าแตะ 400,000 กว่าล้านบาท ขึ้นแท่นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของประเทศไทย

ByteDance บริษัทสตาร์ทอัพด้านแพลตฟอร์มวิดีโอและคอนเทนต์ (เจ้าของ TikTok) ที่พึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2012 เติบโตอย่างรวดเร็ว ออกสินค้าบริการใหม่ๆ อยู่ตลอด พร้อมฐานลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วโลก จนวันนี้มีมูลค่าราว 5.5 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าปตท.ถึง 5 เท่า

Grab ธุรกิจเรียกรถและส่งอาหารที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และอีกไม่กี่ปีต่อมาก็เข้ามา Disrupt เปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนเราไปตลอดกาล ถึงวันนี้มีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท ใหญ่กว่าธนาคารกสิกรไทยเสียอีก

.

.

เราน่าจะพอเห็น “Pattern” แล้วว่า บริษัทที่เป็นดาวรุ่งโตระเบิดจนครองโลกในยุคนี้ มักเป็นกลุ่มที่มี “เทคโนโลยี” เข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น ซึ่งใช้ไอเดียความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักในการชนะใจผู้บริโภค สเกลเข้าถึงฐานลูกค้าทั่วโลกได้ง่ายและรวดเร็ว แซงหน้าบริษัทใหญ่ยุคก่อนที่มักเป็นกลุ่มพลังงานหรือธนาคาร

ในฐานะผู้นำองค์กร ต้องไม่ประมาท เปิดรับโอกาสใหม่ เรียนรู้ตลอดเวลา

อย่าประเมินปัจจัยเสี่ยงหรือผู้เล่นหน้าใหม่ต่ำไป

รู้ตัวอีกที…กลายเป็นคู่แข่งแล้ว

รู้ตัวอีกที…กำลังจะถูกแซงแล้ว

คู่แข่งที่ตัวเล็กในวันนี้จนคุณสบประมาทมองข้าม อาจเป็นบอสใหญ่ที่คุณต้องกราบเท้า…ไม่ใช่อีก 20 ปีข้างหน้า แต่เป็นอีก 2 ปีข้างหน้าก็ได้

เปิดใจรับโอกาสใหม่ๆ เข้ามา มันอาจยังไม่หวือหวา ไม่มีตลาดใหญ่พอ (หรือแม้แต่กลัวความไม่รู้ของตัวเอง) แต่อนาคตอาจมาแทนที่ทั้งอุตสาหกรรมก็เป็นได้

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน