Excessively Optimistic Leaders : ผู้นำในทุ่งลาเวนเดอร์

Excessively Optimistic Leaders
ในโลกธุรกิจกระแสหลัก ใครๆ ก็บอกให้คุณจงเป็นผู้นำที่คิดบวก มองวิกฤติเป็นโอกาส มองเรื่องร้ายให้เป็นบทเรียน

”ใครที่คิดลบอยู่ ขอให้เปลี่ยนเป็นบวก…บวกเข้าไว้!!”

ผลสำรวจจาก Duke University ในหมู่ CEO 1,000 คนพบว่า กว่า 80% มีมุมมองความคิดอยู่ในเกณฑ์ “คิดบวกมากๆ” (very optimistic) เพราะมีพื้นฐานทัศนคติแบบ “Can-Do Attitude” (เราทำได้!) 

การคิดบวกไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด คนเราคิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

เพราะมองโลกในแง่ดี…จึงได้โลกที่ดีสมใจ

แต่ในโลกธุรกิจ การหมกมุ่นคิดบวกที่มากเกินไป กลับกลายเป็นการกระทำที่ Toxic ที่นำไปสู่ปัญหาได้ เพราะมันได้ “ละเลยปัญหาจริง” ตรงหน้าที่เกิดขึ้น บางครั้งปัญหาก็คือปัญหา ไม่มีโอกาสที่ซ่อนอยู่ มีแต่ต้องแก้ให้มันจบไป 

การเป็นผู้นำในทุ่งลาเวนเดอร์ ยังเป็นการมองข้าม “บริบท” (Context) ซึ่งแต่ละบริษัทตกอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะประเภทธุรกิจ / คู่แข่ง / ทรัพยากรบุคคล / สภาพตลาด / กฎหมายในอุตสาหกรรมนั้นๆ ฯลฯ

มีผลวิจัยมากมายระบุว่า ผู้นำโลกสวยที่เอาแต่กระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจแง่บวก(มากเกินไป) มีแต่ทำให้ลูกทีมไว้วางใจ (Trust) น้อยลง และบางคนอาจรู้สึกถึงขั้น “ถูกปล่อยเกาะ” เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตัวเอง เพราะผู้นำไม่แยแส…วิ่งวนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์

ผู้นำที่คิดลบ…แต่กลับได้ดี

ร้าน 100 เยน Daiso เป็นร้านที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีอยู่กว่า 2,800 สาขาในญี่ปุ่น และกว่า 700 สาขาในอีก 25 ประเทศทั่วโลก คนนอกอาจมองว่า CEO บริษัทต้องเป็นคนมีวิสัยทัศน์และคิดบวกแน่ๆ ถึงขยายอาณาจักรได้ขนาดนี้

แต่คุณ Yano Hirotake ประธานผู้ก่อตั้ง Daiso กลับเป็นผู้บริหารองค์กรที่คิดลบมากถึงมากที่สุด!…ลบขนาดที่ว่าคนรอบตัวที่รู้จักยังสงสัยเลยว่าประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่าเค้าใช้กลยุทธ์การ “คิดลบ” เป็นตัวตรวจสอบความคิดในการดำเนินธุรกิจ การคิดลบหลายอย่างทืท่านประธานเคยประกาศออกสื่อ ได้แก่

  • ตั้งราคา 100 เยนทั้งร้าน เพราะขี้เกียจคำนวณให้วุ่นวาย
  • Daiso เป็นสินค้าล่างๆ ผู้คนคงไม่ให้คุณค่าอะไรมากหรอก
  • เคยบอกประธาน Mizuho (ธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น) ว่าอนาคต Daiso อาจจะเจ๊งก็ได้
  • ตัวผมไม่ค่อยรู้เรื่องผลิตภัณฑ์หรอก จึงให้รองประธานดูแลทั้งหมด
  • ยิ่งขยายสาขาออกไปมากเท่าไร ผมยิ่งกลัว
  • บางครั้งก็นอนไม่หลับ เพราะกลัวลูกค้าเบื่อสินค้าและหนีไปเจ้าอื่น
  • ตัวผมเองแก่ลงทุกวันๆ ตามโลกไม่ค่อยจะทัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาลองพิจารณาดูดีๆ การคิดลบช่วยให้ไตร่ตรองรอบคอบขึ้น มองความเป็นจริงขึ้น และไม่ทำไปสู่ความประมาทในที่สุด

แม้ตัวประธานจะคิดลบ แต่เขาไม่ได้ทำงานคนเดียว เพราะมีผู้บริหารมือดี (ที่อาจคิดบวก) อยู่รอบตัว จึงเกิดการบาลานซ์ความคิดขึ้น

และยังเป็นการ “ยอมรับจุดอ่อน” ของตัวเอง (ไม่เก่งเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์) และวิเคราะห์สภาพการณ์ธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา (พฤติกรรมผู้บริโภคอาจเปลี่ยนได้)

นอกจากนี้ การมาของโควิด-19 ได้ปลุกท่านผู้นำโลกสวยให้ตื่นสู่โลกความเป็นจริง ผู้นำองค์กรหลายคนเปลี่ยนจากกลยุทธ์ขยายอาณาจักรมาเป็น กลยุทธ์ “แค่เอาตัวให้รอด” ผ่านพ้นปีนี้ไปให้ได้ก่อน พักแผนการเติบโตอันยิ่งใหญ่ไปก่อน อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์บังคับไปในตัวให้ต้องคิดลบไว้ก่อน

จากระดับองค์กรลองมาดูระดับประเทศกันบ้าง 

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ ผู้นำระดับประเทศอย่าง “ลี กวนยู” วีรบุรุษผู้นำพาสิงคโปร์ให้ก้าวพ้นจากประเทศโลกที่ 3 สู่ประเทศโลกที่ 1 ได้ภายในเวลาเจเนอเรชั่นเดียว ประกาศออกสื่อเลยว่าตัวเองคือ Realist ผู้มองโลกตามความเป็นจริง 

เป้าหมายของเขาทะเยอทะยาน…แต่ไม่เพ้อฝัน สื่อมวลชนลงความเห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่พูดจาตรงไปตรงมาที่สุด แทบไม่มีจริตให้ความหวังที่เป็นนามธรรมเลย

ตอนสร้างชาติใหม่ๆ เค้ารู้ว่าสิงคโปร์ไม่สามารถ “ได้ทุกสิ่ง” ที่ต้องการ หากแต่ต้องเลือกอย่างหนึ่งและตัดทิ้งอย่างอื่น

ปี 1960-2000 สิงคโปร์จึงโฟกัสที่การพัฒนารากฐานด้านการเงิน อุตสาหกรรม การศึกษา และละเลยด้านอื่นไว้ก่อน 

เช่น ด้านวัฒนธรรม / อาหาร / การท่องเที่ยว / หรือ Soft Culture ต่างๆ  ที่เพิ่งจะผลิบานอย่างจริงจังหลังปี 2000 มานี้เอง

เขาเคยกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “สิงคโปร์เล็กเกินกว่าที่จะเปลี่ยนโลก เราทำได้แค่ตามชาติมหาอำนาจ” ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากขนาดประเทศ ทรัพยากร จำนวนประชากรแล้วก็มีความเป็นจริงไม่น้อย

นำมาสู่ยุทธศาสตร์ประเทศต่างๆ เช่น การวางสิงคโปร์ให้เป็นรัฐที่มีสถานะเป็นกลาง (Neutral State) เป็นพื้นที่เจรจาระหว่างนานาชาติในภูมิภาคนี้ (เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ในยุโรป) มีความสงบสุข เป็นมิตรกับทุกชาติ ค้าขายได้กับทุกชาติ 

.

.

สุดท้ายแล้ว อะไรที่ “มากเกินไป” จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา…แม้แต่การคิดบวกที่ถูกเชิดชูอยู่ในกระแสหลักก็เช่นกัน คิดบวกได้…แต่ต้องพอดี

  • หมั่นเอาข้อมูลตัวเลขมาถกเถียงกัน เพราะ “ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร”
  • หัดล้อมรอบไปด้วยคนเก่งรอบตัวที่ “แย้ง” ไอเดียคุณบ้าง คุณอาจรู้สึกเครียดกดดันมากขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นมุมมองรอบด้านขึ้น

ควรตั้งคำถามที่นำไปสู่การค้นหาปัญหา “ซ่อนเร้น” ที่อาจถูกมองข้าม เช่น 

  • คุณคิดว่ายังมีปัญหาอะไรอีกบ้างที่พวกเรามองข้ามไป?
  • มีเหตุผลดีๆ ที่เราไม่ควรเดินหน้าทำต่อไหม?

.

.

และลองเข้าทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…ไม่แน่นะ คุณอาจเหมาะกับผู้นำองค์กรที่มองโลกตามความเป็นจริงมากกว่าที่คิด! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

หรือยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน