Dress for Success: แต่งตัวยังไงให้การงานโตระเบิด

Dress for Success
การแต่งกายให้ดูดีในโลกธุรกิจสร้าง First Impression ที่ประทับใจให้แก่อีกฝ่าย และ First Impression คือประตูบานแรกสู่โอกาสถัดไป

โดยเฉพาะในหลายธุรกิจ การแต่งตัวให้ดีใส่สูทเนี้ยบถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราทำไม่ได้มาตรฐาน อีกฝ่ายอาจมองว่า “มารยาทธุรกิจพื้นฐานแค่นี้ยังไม่รู้…แล้วเรื่องอื่นจะไหวเหรอ?” เมื่อ First Impression แรกล้มเหลว นำไปสู่การปิดกั้นไม่ให้การยอมรับ โอกาสที่ประตูบานถัดไปจะเปิดออกก็น้อยลง

แต่ก่อนที่จะเข้าประเด็น คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ…แล้วเสื้อผ้ากับงานมาเกี่ยวกันได้ยังไง?

การแต่งตัวมาเกี่ยวยังไงกับงาน ? 

การแต่งตัวให้ดูดีเป็นการให้เกียรติตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เสริมให้เราเป็นคนดูเอาใจใส่น่าเชื่อถือ ‘ใครเห็นใครก็รัก’ นี่คือด่านแรกสู่โอกาสที่ใหญ่กว่าถัดไป

ที่สำคัญ เมื่อแต่งตัวดี (เช่น ใส่สูทสุดเนี้ยบ) เราจะมีความมั่นใจโดยไม่รู้ตัว สุดท้ายความมั่นใจก็ย้อนมาช่วยให้เรามีความกล้าตัดสินใจและลงมือทำอะไรบางอย่าง งานวันนั้นของเราอาจ Productive มากขึ้น หรือสามารถ Present งานอย่างชัดถ้อยชัดคำจนมัดใจลูกค้าได้สำเร็จ

Tara Louise สไตลิสต์จากกรุงวอชิงตันเผยว่า คนที่เราพบปะ (โดยเฉพาะครั้งแรกๆ) มีแนวโน้มจะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นเมื่ออีกฝ่ายแต่งตัวดี ดีในที่นี้คือ ภายใต้ข้อจำกัดของร่างกาย (เช่น อาจไม่ใช่คนหน้าตาดีหรือรูปร่างดี) เค้าพยายามแสดงออกว่าใส่ใจในการแต่งกายเพื่อสร้างความประทับใจ (Dress to impress) คู่สนทนา

นอกจากนี้ มีข้อสันนิษฐานว่าการแต่งตัวดียังมีผลต่อการถูกโปรโมทจาก CEO คือถ้าให้เลือก 2 คนที่ความสามารถทุกอย่างพอๆ กัน CEO จะเลือกคนที่แต่งตัวดี เพราะมันสื่อเป็นนัยว่าเค้าใส่ใจตัวเองและกาลเทศะคนรอบข้างแค่ไหน หรือเป็นตัวแทนภาพลักษณ์องค์กรได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องนามธรรม แต่ถึงขนาดมีการทดลองทางด้านจิตวิทยาจนออกมาเป็นทฤษฎีที่ชื่อว่า “Enclothed Cognition” คือ พฤติกรรมคนเรามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปตามการแต่งตัวของเรา: แต่งเนี้ยบมีแววประพฤติเนี้ยบ แต่งชิลมีแววประพฤติชิล

Hajo Adam และ Adam Galinksy สองนักจิตวิทยาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีนี้เผยว่า พฤติกรรมและความนึกคิดเราเปลี่ยนเมื่อเราสัมผัสทั้งการ “สวมใส่ และ มองเห็น” 

มองเห็น เช่น ณ ตึกออฟฟิศ คุณเห็นชายวัยกลางคนใส่สูทสุดเนี้ยบราคาแพง ทรงเข้ารูปเป๊ะ ตัดเย็บดีเยี่ยม สีแมทช์กันอย่างลงตัว เสริมบุคลิกให้เขาเดินอย่างสง่าผ่าเผย เมื่อเห็นแว่บแรกอาจคิดไปเองว่าเขาน่าจะเป็นผู้บริหารหรือซีอีโอบริษัทใดบริษัทหนึ่งในตึกออฟฟิศนี้ (ทั้งที่ความจริงอาจแค่มาสมัครงานก็ได้)

สวมใส่ เช่น คุณใส่สูทสุดเนี้ยบในแบบเดียวกับผู้ชายคนนั้น ก็มีแนวโน้มที่คุณจะพูดจาสุภาพขึ้น ใช้เหตุผลมากขึ้น ใส่ใจบุคลิกการเดินขึ้น จนไปถึงร้านอาหารที่คุณเลือกทานตอนพักเที่ยงก็อาจหรูหรามีระดับขึ้น

Enclothed Cognition ยังถูกสนับสนุนแม้ตอนที่เรา Work From Home ทำงานที่บ้าน ซึ่งช่วยเพิ่มระดับความมั่นใจ ความสุภาพ อารมณ์ ทัศนคติ การให้เกียรติ ความเป็นมืออาชีพ…โดยเฉพาะเวลาคุยกับลูกค้า (แม้จะปิดกล้องก็ตาม)

การที่เราไม่แคร์การแต่งตัว สนใจแค่มันสมองของเรา ไม่ใช่ปัจจัยที่จะชนะใจลูกค้าได้เสมอไป คนเราไม่ได้ตัดสินจากเหตุผลอย่างเดียว แต่ตัดสินโดยใช้ อารมณ์ด้วย และอารมณ์เกิดขึ้นตั้งแต่แว่บแรกที่เรา เห็น’ หน้าซึ่งกันและกัน (ผ่านหน้าตาและการแต่งตัว)

เทคนิคแต่งตัวสำหรับสุภาพบุรุษให้ราศีออก-การงานโตระเบิด 

คุณ Sven Raphael Schneider เจ้าของช่อง Gentleman’s Gazette รายการที่นำเสนอการแต่งตัวแบบคลาสสิกแก่สุภาพบุรุษเผยว่า การแต่งกายก็เหมือนการตลาด เราผลิตสินค้าเพื่อ ‘ใคร’…คุณแต่งตัวให้ ‘ใคร’ ดู กลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร?

และไม่ว่าจะแต่งแนวไหน คุณกำลัง “สื่อสาร” อะไรบางอย่างออกไปอยู่เสมอ

  • ทางการ = อำนาจ ลำดับชั้น
  • โลโก้แบรนด์ = ฐานะ รสนิยม
  • สบายๆ = ใจกว้าง ไม่ทางการ
  • สีสว่าง = สดใส อนาคต ความหวัง

ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการแสดงอำนาจ ก็อาจต้องแต่งทางการ

ถ้าต้องการพรีเซนต์โปรเจ็คท์ใหม่แหวกแนว ก็อาจต้องแต่งโทนสว่าง

แต่ถ้าต้องการมาตรฐานไว้ยึดเป็นแก่นหลัก การแต่งกายในโลกธุรกิจสำหรับผู้ชายที่เป็นที่ยอมรับในสากลและเหมาะสมกับทุกโอกาสที่สุดคงไม่พ้นการใส่ “สูท”

“สูทเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ไม่มีการตกรุ่น เพราะเราใส่สูทมาเป็นร้อยปีแล้ว” คุณนน เจ้าของ RAMS ร้านตัดสูทระดับไฮเอนท์ของเมืองไทย กล่าวไว้สำหรับมือใหม่ที่เริ่มมองหาชุดสูทคุณภาพดีอยู่

การใส่สูทดูเหมือนง่าย แต่ถ้าจะแต่งให้ขึ้น-แต่งให้คนเห็นประทับใจ จะแฝงไปด้วยรายละเอียดมากมาย หลักๆ เช่น

  • สูทสำหรับธุรกิจควรใช้ 3 สีเท่านั้น: ดำ / น้ำเงินเข้ม / เทา
  • ถ้าอยากให้สูทมีลวดลาย ใช้ได้เฉพาะลายแนวตั้ง (Stripe) ดูภูมิฐานกว่า
  • เสื้อเชิ้ตไม่มีกฎตายตัว แต่ “สีขาว” ถือเป็นมาตรฐานที่ใส่ได้ครอบทุกจักรวาล
  • เชิ้ตต้องแขนยาวเท่านั้น โดยทริคที่นักธุรกิจญี่ปุ่นใช้กันทั่วไปคือ เมื่อใส่แล้วแขนเสื้อเชิ้ตที่ยื่นเกินออกมาจากเสื้อสูทต้องอยู่ที่ “1.5 เซนติเมตร” จะเข้ารูปกับความยาวแขนและไม่บังนาฬิกาจนเกินไป
  • พ็อกเก็ต สแควร์ “สีขาว” แมทช์ง่ายและใช้ได้หลายสถานการณ์ที่สุด (และต้องไม่มีลาย)
  • Robert Downey Jr. เสริมจุดนี้ว่า กรณีถ้าใส่แว่น(เขาเป็นผู้นำด้านแฟชั่นแว่น) ให้แมทช์เป็นสีเดียวกับพ็อกเก็ต สแควร์
  • ผูกเนคไทให้ปลายเส้นเนคไทอยู่เหนือหัวเข็มขัดส่วนบน ไม่ต่ำ-สูงกว่านี้
  • ถ้าสูทสีเข้ม-ใส่เนคไทสีอ่อน ถ้าสูทสีอ่อน-ใส่เนคไทสีเข้ม
  • สีเข็มขัดและรองเท้าควรเป็นสีเดียวกันเพื่อคุมโทน
  • ติดกระดุมสูททุกครั้งตอนยืน-เดิน…ยกเว้นตอนนั่ง
  • เพื่อป้องกันสูทเสียทรง ใส่ของได้เฉพาะชิ้นเล็กๆ ใหญ่กว่านั้นใส่นั้นกระเป๋าถือ

นี่เป็นหลักการคร่าวๆ (ไม่มีกฎตายตัว) ที่เอาไปใช้ได้ทันทีช่วยให้ทุกคนเห็นภาพรวมของการใส่สูทอย่างมีเสน่ห์ บุคลิกการแต่งกายถูกตัดสินในเวลาไม่กี่วินาที อยากทำอะไรราบรื่น แต่งตัวดีไว้ก่อนไม่เสียหาย!

แต่การจะแต่งให้ดีได้ ต้องอาศัยประสบการณ์และลองผิดลองถูกเช่นกัน สำหรับในชีวิตประจำวันเราก็สามารถ ‘ฝึก’ แต่งตัวดีให้เป็นนิสัยได้ด้วยวิธีง่ายๆ 

คุณ Yae Shimano ที่ปรึกษาด้านแฟชั่นชาวญี่ปุ่น และนักเขียนมังงะแนะนำการแต่งตัวที่ขายดีถึง 800,000 เล่ม! เขาเผยเคล็ดลับว่า การแต่งตัวให้ดูดีไม่ใช่แค่เรื่อง Common Sense แต่มีหลักการที่ทุกคนทำตามได้และไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงเสมอไป เขาออกแบบ “กฎเหล็ก 4 ข้อ” ที่ไม่ว่าใครก็แต่งตัวให้ดูดีได้

  1. Skinny Jeans สีดำ (กางเกงทรงกระบอกเล็ก): ซึ่งเป็นทรงที่พอดีกับรูปขาของคนส่วนใหญ่มากที่สุด Skinny Jeans ช่วยหลอกตาให้เราดูสูงเพรียว สำหรับคนที่ไม่สูงเค้าแนะนำให้ใส่ถุงเท้าและรองเท้าสีดำ (ช่วงล่างดำหมด) จะเพิ่มการหลอกตาเข้าไปได้ ข้อควรระวังคือ ต้องให้ความยาวกางเกงพอดี ไม่งั้นจะกองลงดูยับง่าย จากนั้น ช่วงบนจะแต่งแบบทางการ/สบายๆ ก็ดูเข้ากันดีได้ไม่ยากแล้ว
  1. สมดุล Dress 70% Casual 30%: Dress คือแต่งแบบทางการ (เช่น เสื้อแจ็คเก็ต) ขณะที่ Casual คือแต่งลำลองสบายๆ คุณ Shimano บอกว่าถ้าใส่เดินเล่นย่านเก๋ๆ ในเมืองแนะนำให้ใช้สูตรนี้ เราจะดูโดดเด่นกว่าคนทั่วไปที่มักแต่งแบบ Casual >50%
  1. ยึดหลัก YIA: คือโครงร่างรูปทรงในการแต่งตัวที่คนมองมาที่เราจะเห็นคล้ายเป็น 
  • ตัว Y 🡺 ช่วงบนหลวมๆ พองๆ ช่วงล่างฟิตๆ เหมาะสำหรับคนต้องการซ่อนพุง
  • ตัว I 🡺 ช่วงล่างและบนเป็นแบบ Slim Fit ดูสูงลงตัว
  • ตัว A 🡺 ช่วงบนฟิต ช่วงล่างหลวมๆ เหมาะกับคนต้องการซ่อนขาใหญ่

แต่ละครั้งที่แต่ง ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับรูปร่างและเสื้อผ้าของเรา…อย่าเอาแต่ละตัวมารวมกัน

  1. โทนสีเสื้อ: สำหรับผู้ชายเริ่มต้นแนะนำ 3 สี: ขาว / ดำ / เทา ใส่ได้หลากหลายโอกาส ดูภูมิฐานที่สุดแล้ว

ตัวอย่างคนสำเร็จแต่งตัว Dress for Success

คุณรวิศ หาญอุตสาหะ บอสใหญ่อาณาจักรสื่อ Mission To The Moon และ ศรีจันทร์ เป็นอีกคนที่โผล่ออกตามหน้าสื่อในวงการธุรกิจเป็นประจำ 

หลายคนน่าจะคุ้นมาดเขาที่มาพร้อมกับ “สูทน้ำเงิน x ติดพ็อกเก็ตสแควร์ x ไม่ใส่เนคไท x กางเกงยีนส์” ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์การแต่งกายที่พบเห็นซ้ำๆ ได้เกือบทุกสื่อทุกประเภทงานไม่ว่าจะอ่านข่าว ร่วมสัมมนา ขึ้นเวทีพูด เปิดตัวหนังสือ

Image Cr. bit.ly/3sBEvaz

“ผมเป็นคนที่เกลียดการใส่เนคไทมาก มันดูแก่ และอึดอัด” คุณรวิศกล่าวไว้ถึงสาเหตุที่แทบไม่เคยเห็นเขาใส่เนคไทเลย

พอไม่มีเนคไทและใส่ยีนส์ กลับทำให้ภาพลักษณ์เขาดู “ทันสมัย” ดูวัยรุ่นขึ้น คล่องแคล่วขึ้น ในฐานะผู้นำองค์กร การแต่งกายลักษณะนี้ ‘สอดคล้อง’ กับแนวทางการทำธุรกิจของเขาเองที่จะมีความเป็นคนรุ่นใหม่ มืออาชีพแต่ยังว่องไว สดใหม่และกระหายการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

คนธรรมดาที่หลงใหลการแต่งตัวดี ก็ผสานการใส่สูทเข้ากับการ “ทำนา” จนมีชื่อเสียงมาแล้ว!

Kiyoto Saito เป็นมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เบื่อหน่ายกับชีวิตออฟฟิศ มาวันหนึ่ง เขาตัดสินใจลาออกกลับไปสานต่อธุรกิจเกษตรของตระกูลที่บ้านเกิดของเขาในจังหวัดยามากาตะทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น 

แม้เขาจะเบื่อการทำงานในออฟฟิศ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยเบื่อเลย แต่กลับหลงรักด้วยซ้ำคือ…การใส่สูท เขาจึงตัดสินใจ “ทำนาไป-ใส่สูทไป” อย่างจริงจังทุกวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

Image Cr. bit.ly/2OesXuK

ผลลัพธ์คือเรื่องราวของเขากลายเป็น Viral ไปทั่วญี่ปุ่น สื่อหลายสำนักบึ่งมาทำข่าวถึงที่ และให้สมญานามเขาว่า ”ชาวนาที่แต่งตัวเท่ที่สุดในโลก”  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากนั้นมันได้สร้างการรับรู้มหาศาลให้กับธุรกิจเกษตรของเขาจนมีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย

คนประสบความสำเร็จระดับโลกน้อยคนที่จะไม่ใส่ใจการแต่งตัว แม้เราจะเห็นเค้าแต่งตัวเรียบง่าย แต่เบื้องหลังความเรียบง่ายนั้นถูกตกผลึกผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว ทั้งจากนักออกแบบเสื้อผ้า นักการตลาด นักโค้ชด้านบุคลิกภาพ (Image Coach)

เช่น Mark Zuckerberg ตกผลึกออกมาเป็น “เสื้อยืดแขนสั้นสีเทา” ซึ่งมันสื่อความหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะการละทิ้งความอนุรักษ์นิยมเก่าๆ ที่ใส่สูทผูกไท การผงาดของผู้นำรุ่นใหม่และกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ภาพลักษณ์สบายๆ ที่ดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจากพนักงาน เป็นองค์กรที่ไม่มีระดับขั้นมาก 

และอีกเหตุผลหลักซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับ Steve Jobs คือ เค้าประหยัดเวลาไม่ต้องมานั่งคิดว่าวันนี้จะแต่งตัวยังไงดี (เสื้อยืดนี้ราคาเป็นหมื่นๆ สั่งตัดพิเศษ ใช้เนื้อผ้าดีที่สุด)

การสัมภาษณ์งานเองก็เช่นกัน แต่งตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

แต่ก่อนจะสัมภาษณ์งาน ต้องรู้ก่อนว่าอยากทำงานในบริษัทแนวไหน สายอาชีพไหน…เข้าไปทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาสายอาชีพที่ใจลึกๆ ต้องการได้ที่ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/


อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน