เคยไหม? เราเห็นผู้นำระดับโลกหลายคนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกทีม จุดประกายทางความคิด โน้มน้าวผู้อื่นให้เชื่อมั่นเดินตามวิสัยทัศน์ได้อย่างหนักแน่น
ไม่ว่าจะเป็น Martin Luther King Jr., Barack Obama, Elon Musk, Steve Jobs, Tim Cook, หรือ Jack Ma
เรารู้สึกว่าพวกเขาช่างเป็นผู้นำที่มี “เสน่ห์” เหลือเกิน พูดอะไรไปใครก็เชื่อ ขายอะไรไปคนก็ซื้อ เรารู้สึกว่านี่เป็น “พรสวรรค์” ที่มีอยู่ในตัว จนคิดไปว่า “เสน่ห์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด” ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีได้แม้พยายามแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ในบทความ จะมาลบล้าง “มายาคติ” (Myth) เดิมๆ นี้ ซึ่งมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยารองรับ
ขอให้รู้ว่าเสน่ห์เป็นสิ่งที่ ‘สร้าง’ กันได้ และอันที่จริง Charismatic Leaders ทุกท่านที่กล่าวไป ก็ล้วนเข้าใจและ ‘ฝึกฝน’ ทักษะเหล่านี้อยู่เบื้องหลังตลอดเวลา (ใช่ ถ้าไม่ฝึก ทักษะนี้จะดรอปลง)
Presence
ต้องเข้าใจก่อนว่า Presence ในที่นี้ไม่ใช่การทำสมาธิยุบหนอ-พองหนออะไรแบบนั้น แต่หมายถึงการที่เรามีสติโฟกัสอยู่กับปัจจุบัน ใส่ใจคนที่เรากำลังพูดคุยอยู่ พุ่งความสนใจมีตัวตนอยู่ในที่นั้นๆ ไม่ใช่ตัวอยู่ห้องประชุมแต่ใจลอยอยู่บ้าน
หลายคนที่ได้ร่วมงานกับ Bill Gates กล่าวว่า เขาเป็นคนเงียบๆ ดูนิ่งๆ ไม่หวือหวา แต่รับรู้ความเป็นไปทุกอย่างในห้องประชุม เขาฟังทุกคำที่คุณพูดและเอาไปคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ สำหรับลูกทีมแล้ว การที่ “เสียงของคุณถูกได้ยิน” จากหัวหน้า เป็นความชื่นใจไม่น้อย และเป็นด่านแรกที่นำไปสู่การยอมรับนับถือ
ประเด็นนี้สอดคล้องกับ “Deep Listening” ฟังให้ลึกในระดับ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ผู้นำจะไม่แค่ ‘รู้’ ว่าปัญหาของคุณคืออะไร แต่ ‘รู้สึก’ ว่าปัญหาที่คุณเจออยู่มันโหดร้ายแค่ไหน
Confidence
ไม่มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่คนไหนในโลกที่ไม่มีความมั่นใจ และ ไม่มีผู้ตามคนไหนอยากตามผู้นำที่ลังเลใจ
ในทุกวิกฤติเศรษฐกิจ ก่อนจะลงมือแก้ปัญหา…ด่านแรกของผู้นำองค์กร คือ ประกาศให้ทุกคนรับรู้ถึงความมั่นใจในการนำพาบริษัทให้รอดพ้นจากวิกฤติ
Olivia Fox Cabane ครูสอนภาวะผู้นำในมหาวิทยาลัย Harvard, Yale, และ MIT เผยว่า หลายกรณีทีเดียว ลูกทีมให้น้ำหนักผู้บริหาร-ผู้นำองค์กรที่ประกาศวิสัยทัศน์อย่างหนักแน่นมั่นใจ…มากกว่าข้อมูลตัวเลขที่มีอยู่เสียอีก
คือข้อมูลที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอที่จะฟันธงว่าวิสัยทัศน์นั้นสามารถทำได้จริงๆ แต่พนักงานทุกคนเชื่ออย่างเต็มอกไปแล้วว่า “ทำได้!” เพราะการแสดงท่าทีอย่างมั่นอกมั่นใจของผู้นำองค์กรนั่นเอง
Vision
Simon Sinek ผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง Start with Why กล่าวว่า งานของผู้นำคือ “การมองเห็นโลกที่ยังไม่เกิด และ ทำยังไงก็ได้ให้คนอื่นเห็นภาพร่วมไปกับเรา”
Elon Musk คือคนที่อยากนำพามนุษยชาติไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร วิสัยทัศน์ของเขาจริงจังถึงขนาดก่อตั้งบริษัทจรวด SpaceX ในปี 2002 ซึ่งทุกวันนี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปมาก
ตามแผนการ เขามั่นใจว่า ‘เที่ยวบินแรก’ ของมนุษย์ในการไปดาวอังคารจะเกิดขึ้นได้จริงภายในปี 2027 แต่เมื่อถึงปี 2050 ดาวอังคารจะมีมนุษย์อาศัยอยู่กว่า 1 ล้านคนแล้ว!
Clothing
เราจะมองข้ามวัฒนธรรมการแต่งกายในตัวผู้นำไปไม่ได้เลย การแต่งกายที่ดูดี เสริมภาพลักษณ์ให้เราดูดีมีเสน่ห์หล่อสวย และเพิ่มความมั่นใจในที่สุด
“เปลือกภายนอกมีผลต่อเนื้อภายใน”
มีการทดลองหนึ่งให้ผู้ทดลอง 2 คนข้ามถนนมั่วๆ ในจุดห้ามข้าม (jaywalking) คนแรกใส่สูทเนี้ยบราคาแพง คนที่สองใส่เสื้อผ้าบ้านๆ ปกติธรรมดา
ผลปรากฎว่า คนรอบข้างริมท้องถนนแถวนั้น jaywalking ฝ่าฝืนเดินข้ามถนน ‘ตาม’ คนที่ใส่สูทเนี้ยบราคาแพง มากกว่า คนที่แต่งตัวธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนจะเดินตามผู้นำที่ใส่สูทเนี้ยบราคาแพงเสมอไป
ดังเช่น มหาตมา คานธี ที่สวมใส่เฉพาะเสื้อผ้าดั้งเดิมแบบอินเดียที่ทอขึ้นเอง เพื่อฉายภาพสัญลักษณ์แห่งการพึ่งพาตนเองปลดแอกจากอังกฤษ คานธีและเครื่องแต่งกายของเขากลายเป็นภาพจำที่แยกกันไม่ขาด..
Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Facebook คืออีกคนที่ให้ความสำคัญกับการแต่งกายมากๆ เรื่องนี้อาจขัดแย้งกับความคิดใครหลายคนที่เห็นว่าเขาใส่แค่เสื้อยืดธรรมดาตัวหนึ่ง
อันที่จริง เสื้อยืดของเขาทุกตัวออกแบบโดยดีไซเนอร์ชั้นนำ (ตัวนึงราคาเป็นหมื่น) และเหตุผลที่เลือกเสื้อยืดก็เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี ไม่เน้นความทางการ โชว์ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ อุดมไปด้วยเจน Millennials
Giving
ในหนังสือ Give and Take ผู้เขียนอย่าง Adam Grant กล่าวว่า ในระยะยาวผู้นำที่เป็น “ผู้ให้” (อย่างถูกกาลเทศะ) มักประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และ ‘เป็นที่รัก’ ของเพื่อนร่วมงานมากกว่าผู้นำที่เอาเข้าตัวอย่างเดียว
ที่สำคัญ จากมุมมองคนภายนอก ความสำเร็จนั้นดูเหมือน “โชคช่วย” ทุกอย่างเปิดทางให้ อะไรๆ เป็นใจไปหมด “ขออะไรใครก็ให้” แต่คนในจะรู้ดีว่า ก่อนเขาได้…เขาเคยให้มาก่อน
นอกจากตัวผู้นำแล้ว ยิ่งให้มาก (เช่นทำ CSR) ภาพลักษณ์ ‘บริษัท’ ในมุมมองของลูกค้าและพนักงานบริษัทเองยิ่งเป็นบวก
Body Language
อีกหนึ่งสิ่งที่ Charismatic Leaders มีคือ ภาษากาย นักพฤติกรรมศาสตร์ เผยว่า “ภาษากาย” (Body Language) ในกลุ่มคนที่เป็นระดับผู้นำ ไม่ว่าจะผู้นำภาคธุรกิจหรือผู้นำประเทศ สามารถ “ติดต่อทางอารมณ์” (Emotional Contagion) ได้กว้างขวางและมีอิทธิพลกว่าคนธรรมดาทั่วไปมาก
เรื่องง่ายๆ อย่างการ ยิ้ม / สบสายตา / โบกมือทักทาย / ชูนิ้วโป้ง / นั่งไขว่ห้าง / ล้วงกระเป่า / กำมือ(สู้!) ล้วนสื่อสารอารมณ์ออกมาทางใดทางหนึ่ง ผู้บริหารที่นั่งกอดอก-ก้มหน้าคิดลงพื้นระหว่างถูกเสนอไอเดีย ถ่ายทอดความรู้สึกแบบปิดกั้นปฏิเสธ
นักมานุษยวิทยา ยังแนะนำเทคนิคง่ายๆ ในการ “สบตา” (Eye Contact) คือ ให้สบตาอีกฝ่ายต่ออีก ‘3 วินาที หลังบทสนทนานั้นจบลง’ นอกจากจะสร้าง last impression ที่ดีได้แล้ว ยังหลีกเลี่ยงสิ่งที่เรียกว่า “Separation Distress” หรือภาวะถูกเมิน(ที่อีกฝ่ายไม่ตั้งใจ) เพราะเหลือเราเป็นฝ่ายเดียวที่ยังมองอยู่
Presentation
พวกเราหลายคนจดจำผู้นำในฐานะที่ขึ้นมานำทัพเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไม่มีโอกาสไหนจะแสดงเสน่ห์ศักยภาพความเป็นผู้นำได้มากไปกว่านี้แล้วโดยเฉพาะถ้ามีสื่อมวลชนรอทำข่าวไปทั่วโลก
เรื่องนี้ไม่มีใครโดดเด่นไปกว่า Steve Jobs ซึ่งถือเป็นตัวพ่อแห่งการนำเสนอ เทคนิคหนึ่งที่เขาใช้คือ “ตัวเลข” เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาพูดท่อนหนึ่งขณะเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลางเวทีใหญ่ว่า
- ถึงวันนี้ Apple ขาย iPhone ไปแล้ว 4 ล้านเครื่อง…นั่นเท่ากับขาย iPhone ได้ถึง 20,000 เครื่อง/วัน!
อีกเทคนึคคือการ “เปรียบเทียบ”
- เมมโมรี่การ์ดนี้ มีความจุ 12 gigabytes ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับปริมาณความจุเพลงที่คุณใช้เดินทางไป-กลับดวงจันทร์ได้เลย
…แต่จ็อบส์เหนือกว่านั้น โดยเปรียบเทียบแบบแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง (Lead by example) ปี 2008 ตอนเปิดตัว MacBook Air เขาหยิบมันออกมาจาก ‘ซองจดหมาย’ ซึ่งบอกในตัวมันเองว่าทั้งบางและเบา
นอกจากนี้ Steve Jobs สอดแทรก “อารมณ์ขัน” เป็นระยะ
ระหว่างงานเปิดตัว iPhone เขาสาธิตการใช้งานจริงโดยค้นหาร้าน Starbucks ใน Google Maps จากนั้นจ็อบส์กดโทรออกแบบหน้างานสดๆ เลยไม่มีเตี๊ยม
พนักงาน: “อรุณสวัสดิ์ค่ะ ที่นี่ร้านสตาร์บัคส์ มีอะไรให้เราช่วยไหมคะ?”
จ็อบส์: “ผมอยากสั่งลาเต้ 4,000 แก้วครับ … ล้อเล่นน่ะครับ ผมโทรผิดเบอร์ ขอบคุณมาก บ๊ายบาย”
…สร้างเสียงหัวเราะลั่นทั้งฮอลล์ และกลายเป็นหนึ่งในโมเม้นต์ที่ทุกคนจดจำได้ดี(จนถึงทุกวันนี้)
Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์ด้านพฤติกรรม เผยว่า เวลาที่คนเราหัวเราะอารมณ์ดี เราจะจดจำเหตุการณ์ช่วงเวลานั้นได้แม่นยำ และมีแนวโน้มจะเปิดใจยอมรับข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย
.
.
เราจะเห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคน “ฝึกฝน” ได้
มีคำกล่าวว่า เบื้องหน้าแสดง 10 เบื้องหลังซ้อม 100
ถ้าเห็นผู้นำขึ้นพูดบนเวทีอย่างมีเสน่ห์ออกรส 1 ชม. เบื้องหลังคือเขาฝึกซ้อมแทบเป็นแทบตาย 1 เดือน..
.
.
มาเช็คกันว่าคุณเป็นคนมีบุคลิกและเสน่ห์แบบไหน? ด้วย “แบบประเมินอาชีพ” ฟรีจาก CareerVisa นอกจากจะรู้จักตัวเองดีขึ้นแล้ว อาจค้นพบสายงานที่ใจค้นหามาโดยตลอด >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
อ้างอิง
- หนังสือ The Charisma Myth โดย Olivia Fox Cabane
- หนังสือ Give and Take โดย Adam Grant
- https://www.psychologytoday.com
- https://hbr.org
- https://torch.io/blog
- https://www.businessinsider.com
- https://futureofworking.com
- https://www.businessinsider.com
- https://www.leadershipahoy.com
- https://www.entrepreneur.com
- https://yscouts.com