
ถ้าพูดให้มีสาระมันยากนัก ทำไมไม่พูดไร้สาระให้มีคุณภาพดูล่ะ?
พูดไร้สาระที่มีคุณภาพที่เราจะเล่าถึงในวันนี้ คือการนำเอาบทสนทนาที่เราพูดคุยเล่นๆ ทั่วไป และไม่ค่อยมีประโยชน์ในการทำงานเท่าไหร่ นำมาใช้พูดเพื่อสร้างบรรยากาศ หรือทำให้บทสนทนาผ่อนคลายขึ้น หรือที่เรียกว่า Small Talk นั่นเอง
Small Talk เป็นหนึ่งในวิธี Ice Breaking ที่ได้ผลดีและเร็วที่สุด
นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายในที่ทำงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้ทำงานได้สนุกสนานขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานในระยะยาวด้วย วันนี้ลองมาเปลี่ยนการคุยเล่นไร้สาระให้มีประสิทธิภาพกับเพื่อนร่วมงานด้วย 6 เทคนิคนี้กัน
1. อย่าคิดว่าไร้สาระเป็นอยู่คนเดียว
ก่อนจะพูดไร้สาระกับคนอื่น เราต้องรับความไร้สาระของคนอื่นได้เช่นกัน เคยมั้ยที่แบบไม่เข้าใจว่าเพื่อนเราคนนี้ทำไมวันๆ พูดถึงแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็พูดแต่เรื่องเดิมๆ ไม่หยุด บางคนก็พูดแต่เรื่องของกิน บางคนอาจจะชอบแชร์เพลงอินดี้ที่ฟังแล้วไม่get หรือชอบกริ้ดกร้าดโอปป้าในซีรี่ย์ที่เราไม่อินซักกะนิด
อันดับแรกต้องปรับ Mindset ของตัวเองก่อนว่า ทุกคนมีความชอบไม่เหมือนกัน นอกจากไม่ควรแสดงท่าทีเหม็นใส่ความชอบของเพื่อนแล้ว การที่เราสังเกตพฤติกรรมความชอบของเพื่อนแล้วเอามาตั้งคำถาม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆในการเปิดบทสนทนาเลยล่ะ
ลองเปิดใจกับความชอบแล้วตั้งคำถามด้วยความสนใจจริงๆ คิดสิว่า การที่คนจะชอบอะไรอย่างหนึ่งต้องมีเหตุผลอะไรซักอย่างแหละ ถ้าเราคุยด้วยอินเนอร์ของความอยากรู้จริงๆ ทั้งสีหน้า ท่าทาง ภาษากายของเราจะดูเป็นมิตรขึ้น คนที่คุยกับเราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย และอยากเล่าเรื่องมากขึ้น
2. อย่าชวนคุยด้วย Yes/No Questions
หากไม่อยากให้บทสนทนามีเดดแอร์ก่อนเวลาอันควร กรุณาอย่าถามคำถามปลายปิดเด็ดขาด! การถามปลายปิดจะทำให้ดูเป็นการถามพอเป็นพิธี พอเป็นมารยาท ถามไปงั้นๆ (จะถามแบบนั้นก็ถ้าอยากถามแค่พอเป็นพิธีจริงๆ) ถ้าเราอยากสนิทกับฝ่ายตรงข้าม ไม่ควรถามอะไรประมาณวันนี้อากาศดีเนอะว่ามั้ย แล้วก็จบบทสนทนาไปดื้อๆ งงๆ แบบนี้ใครคุยด้วยก็เกร็งกว่าเดิมอีก ถ้าเปลี่ยนเป็นคำถามปลายเปิดจะทำให้เรามีประเด็นที่จะไปต่อได้
3. ยกระดับการชวนคุยไร้สาระจากสิ่งรอบตัว
จริงๆทุกคนก็พอจะรู้บทสนทนาเบสิคในการคุยเล่นอยู่แล้วอย่างเรื่องลมฟ้าอากาศ หรือการจราจรอันโหดร้ายในประเทศเรา ทีนี้ลองมาจุดประเด็นการคุยเรื่องไร้สาระจากสิ่งรอบตัวดีกว่า
Dorie Clark วิทยากรมืออาชีพ บอกว่าประเด็นชวนคุยที่มีประสิทธิภาพคือ การชวนคุยจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างการสวมใส่เสื้อผ้า สิ่งของที่ใช้ สิ่งที่พบเจอในแต่ละวัน สามารถจุดประเด็นการสนทนาได้ และเป็นการ Ice Breaking ที่ดีมาก เช่น เมื่อเค้าปรากฏตัวด้วยชุดที่แตกต่างออกไป พอทุกคนสะดุดตา เขาจะเริ่มเล่าถึงที่มา แรงบันดาลใจ ไปจนถึงเรื่องเล่าในการซื้อไอเท็มแต่ละชิ้นที่อยู่บนตัว นอกจากนี้ยังสามารถให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วยการเรียกคนที่มีสีเสื้อเหมือนกันให้ออกมาเล่าแลกเปลี่ยนความเห็นบ้าง เป็นต้น
ลองสังเกตเพื่อนของคุณแล้วชวนคุยดู อาจจะเริ่มจากการชมแล้วถามรายละเอียดที่มาที่ไปของๆ ชิ้นนั้น ผลัดกันเล่าแลกเปลี่ยนเรื่องของคุณเองด้วย แต่ก็ต้องระวังอย่าไปพูดในเชิงวิจารณ์ เอาความคิดตัวเองไปตัดสินสิ่งที่เพื่อนชอบล่ะ
4. แกล้งๆ เป็นคุณครูและนักเรียนจำแลง
แม้เราจะมีสกิลสามารถเม้าท์ไปได้เรื่อยๆ แต่ซักพักเพื่อนจะรู้สึกว่าการคุยไร้สาระนานๆ นั้นช่างดูไร้จุดหมาย และเสียเวลาทำงานของเค้าซะจริงๆ ดังนั้น เคล็ดลับอย่างหนึ่งก็คือเปลี่ยนการพูดคุยอย่างไร้จุดหมายเป็นSession ของการเรียนรู้แทน ลองหาเรื่องที่เหมือนจะไร้สาระ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของคู่สนทนาได้ เช่น ทริคจัดโต๊ะให้หยิบของง่าย ทอดไข่เจียวยังไงให้ฟู ยืนรอรถเมล์ท่าไหนเมื่อยน้อยที่สุด เป็นต้น การพูดคุยไร้สาระจะดูมีคุณภาพมากขึ้นทีเดียว
5. จะพูดไร้สาระ ต้องสนุกและรู้สึกดีทั้งสองฝ่าย
จากข้อ 1 ที่บอกไปแล้วว่าเราต้องเปิดใจในเรื่องที่จะพูดไร้สาระกับเพื่อน นอกจากแสดงท่าทีที่สนใจแล้ว การแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจของเราเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเรา “อิน” กับเรื่องที่เพื่อนพูดจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนดูหนังที่เรารู้สึกว่ามันแย่ (แต่เพื่อนชอบมาก) เมื่อคุยกับเพื่อนลองเปิดใจหาเหตุผลเพื่อนชอบแล้วแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก จากที่บอกว่า “แกชอบเรื่องนี้เหรอ สนุกตรงไหนเนี่ย” เป็น “เราว่าเนื้อเรื่องมันอาจจะไม่ได้เพอร์เฟค แต่เค้าตัดต่อดีมาก เพลงประกอบก็เพราะ เข้าใจละว่าทำไมแกถึงชอบ” หรือ คุยเรื่องงานอดิเรกเพื่อน การให้กำลังใจเล็กๆ น้อยๆ อย่าง “อยากเห็นแกทำอีก” หรือ “ลองทำดู อย่ากลัว” ก็เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนได้ดีมากๆ
6. ไร้สาระให้ถูกที่ ไม่ไหวอย่าฝืน
ข้อสุดท้ายก็คือ อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกสถานการณ์ ที่จะสามารถคุยเล่นได้ หรือกับบางคน ที่เค้าอาจจะไม่เปิดใจกับเรา ไม่อยากคุยเรื่องสาระกับเรา กรณีแบบนี้ต่อให้ฝืนคุยก็เสียแรงเปล่า แถมเสียความรู้สึกอีกต่างหาก เพราะการพูดไร้สาระให้ทุกที่ ถูกเวลา ถูกกาลเทศะ ก็คือการพูดไร้สาระที่มีคุณภาพที่สุดนั้นเอง
นี่คือเคล็ดลับง่ายๆ ในการพูดไร้สาระอย่างมีคุณภาพ ลองเอาไปปรับใช้กันได้ เทคนิคนี้ไม่ใช่แค่สำหรับเพื่อนร่วมงานเท่านั้น สามารถเอาไปใช้กับใครก็ได้ที่เราอยากจะสนิทด้วยก็ได้
อ้างอิง Inc.com