
การพัฒนาบุคลากรในยุคดิจิทัล เป็นสิ่งที่กลายเป็นตัวเพิ่มโอกาสทางธุรกิจขององค์กรในยุค New Normal ที่ผู้บริหารและ HR เห็นตรงกันว่าต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต
วิธีการออกแบบโปรแกรมพัฒนาบุคลากร การอบรมสัมมนา หรือเวิร์คชอปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและวัดผลได้ ต้องได้รับการออกแบบอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์ หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมและได้รับการค้นหาวิธีการคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการลงมือทำ หรือที่หลายคนรู้จักกันตามโมเดล 10:20:70 ในการออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อว่า การแบ่งสัดส่วนระหว่างการฝึอบรม – Training (10%) การได้รับคำแนะนำจากโค้ชและพี่เลี้ยง – Coaching & Mentoring (20%) และการลงมือทำ – Learning by Doing (70%) ซึ่ง 70% นี้เป็นสิ่งที่ให้น้ำหนักสูงที่สุดแต่กลับไม่ค่อยได้รับการสนใจในการออกแบบการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ วันนี้เราจึงนำแนวทางในการพัฒนาทีมงานที่ทีม Learning & Development หรือ Talent Development สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามแนวทางการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือ Experiential Learning มาฝากกัน
แนวทางในการฝึกอบรมบุคลากรด้วยวิธีนี้ เชื่อว่าการที่พนักงานได้รับประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ณ ขณะนั้น เป็นขั้นตอนพื้นฐานนำไปสู่การสังเกต การสะท้อนคิด การสะท้อนคิดเหล่านี้จะทำให้พนักงานได้ดูดซับความรู้และตกผลึกเป็นแนวคิดเชิงนามธรรมจนนำไปสู่การนำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ในการปฏิบัติต่อไป และการลงมือทำนี้จะทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่กับพนักงานต่อไป
- การเรียนรู้ควรถูกมองว่าเป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าเป็นผลลัพธ์ (Outcome)
- การเรียนรู้ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ซ้ำ (Relearn) สิ่งที่เคยรู้แล้วอาจจะถูกหักล้างด้วยความรู้ใหม่ๆได้เรื่อยๆ
- การเรียนรู้นั้นจะเกิดขึ้นจากหักล้างความเชื่อเดิมกับการปรับตัวเข้ากับโลกใหม่
- การเรียนรู้เป็นกระบวนการปรับตัวเชิงองค์รวม (Holistic)
- การเรียนรู้เป็นผลจากการร่วมปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อม
- การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างความรู้ (Knowledge Creation)
กระบวนการนี้เป็น Cycle ซึ่งผู้เรียนจะผ่านประสบการณ์ทั้ง 4 รูปแบบซ้ำไปซ้ำมาเป็นวงจร คือ
– การได้รับประสบการณ์ (Concrete Experience)
– การสะท้อนคิด (Reflective Observation)
– การคิดพิจารณา (Abstract Conceptualization)
– การทดลองทำ (Active Experimentation)
เราแบ่งผู้เรียนตามรูปแบบการเรียนรู้ เป็น 4 ประเภท
บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบอเนกนัย (Diverging)
มีทักษะในการเรียนรู้ในส่วนของการรับประสบการณ์ (CE) และการสะท้อนคิด (RO) เป็นหลัก บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบนี้จะมองสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมจากหลากหลายมุมมองได้ดี ทั้งนี้การที่คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “อเนกนัย” เพราะว่าบุคคลกลุ่มนี้จะทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่เรียกร้องให้สร้างไอเดียจำนวนมาก เช่น การระดมสมอง
รูปแบบการเรียนรู้แบบซึมซับมีความสำคัญมากกับการทำงานในวิชาชีพ : วัฒนธรรม และศิลปะ
ในสถานการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นทางการเช่นในห้องเรียน คนกลุ่มอเนกนัยจะชอบทำงานเป็นกลุ่ม ฟังด้วยความเปิดใจและรับฟังข้อคิดเห็นเฉพาะสำหรับพวกเขาอย่างกว้างขวางและชอบที่จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มาเก็บไว้ พวกเขาจะชอบบุคคลที่มีจิตนาการและอารมณ์ความรู้สึก มีความสนใจในวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มที่จะเก่งด้านศิลปะ
บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบซึมซับ (Assimilating)
มีทักษะในการเรียนรู้ในส่วนของการสะท้อนคิด (RO) และการสรุปแนวคิดเชิงนามธรรม (AC) เป็นหลัก คนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีกับการทำความเข้าใจข้อมูลที่หลากหลาย และสรุปข้อมูลเหล่านั้นออกมาได้อย่างมีตรรกะ บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ไม่ค่อยให้ความสนใจกับผู้คนแต่จะให้ความสนใจกับไอเดียและแนวคิดเชิงนามธรรมมากกว่า โดยทั่วไปแล้วบุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบนี้มักจะให้ความสำคัญทฤษฎีมีฟังดูมีเหตุผลเชิงตรรกะมากกว่าคุณค่าในการปฏิบัติ
รูปแบบการเรียนรู้แบบซึมซับมีความสำคัญมากกับการทำงานในวิชาชีพ : ข้อมูล และวิทยาศาสตร์
ในสถานการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นทางการ บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบนี้จะชอบ อ่าน ฟังบรรยาย สำรวจรูปแบบเชิงวิเคราะห์ และชอบใช้เวลาในการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนจนทะลุปรุโปร่ง มักมีการวัดผลด้วยการสอบ
บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบเอกนัย (Converging)
มีทักษะในการเรียนรู้ในส่วนของการสรุปแนวคิดเชิงนามธรรม (AC) และ การทดลองเชิงการกระทำ (AE) เป็นหลัก บุคคลกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีในการค้นหาวิธีการในการปฏิบัติงานตามแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ พวกเขาจะมีทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสินใจโดนตั้งอยู่บนการหาทางออกให้กับคำถามหรือปัญหา บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบเอกนัยจะชอบทำงานและแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยเทคนิคฝีมือมากกว่าประเด็นเกี่ยวกับการเข้าสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
รูปแบบการเรียนรู้แบบเอกนัยมีความสำคัญมากกับการทำงานในวิชาชีพ : งานช่าง วิศวกรรม เทคโนโลยี
ในการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ บุคคลกลุ่มนี้จะชอบ ทำการทดลองแนวคิดใหม่ ๆ การจำลองสถานการณ์ การรับมอบหมายงานในห้องทดลอง และการลงมือปฏิบัติที่ต้องประยุกต์ใช้ทฤษฎี
บุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบปรับเปลี่ยน (Accommodating)
มีทักษะในการเรียนรู้ในส่วนของการ การทดลองเชิงการกระทำ (AE) และการรับประสบการณ์ (CE) เป็นหลัก บุคคลกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีประสบการณ์การลงมือปฏิบัติจริง พวกเขาชอบที่จะลงมือตามแผนให้ลุล่วงและพาตัวเองไปพบการประสบการณ์ที่แปลกใหม่และท้าทาย เช่น การฝึกงาน พวกเขามักจะทำงานตามสัญชาตญาณมากกว่าการวิเคราะห์เหตุผล ในการแก้ปัญหาบุคคลที่มีรูปแบบการเรียนรู้แบบปรับเปลี่ยนจะพึ่งพาคนให้ข้อมูลมากกว่าการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางเทคนิคด้วยตนเองอย่างมาก
รูปแบบการเรียนรู้แบบปรับเปลี่ยนมีความสำคัญมากกับการทำงานในวิชาชีพ : การตลาด และการขาย
ในการเรียนรู้อย่างเป็นทางการบุคคลกลุ่มนี้จะชอบทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ ชอบตั้งเป้าหมาย ทำงานภาคสนาม และทดสอบวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้โครงงานสำเร็จได้
พัฒนาการและการเรียนรู้เชิงลึก (The ELT developmental model)
Kolb แบ่งพัฒนาการเป็น 3 ช่วง ได้แก่
1. ช่วงรับความรู้ (Acquisition) เป็นช่วงตั้งแต่เด็กสู่วัยรุ่น เป็นช่วงที่ทักษะและโครงสร้างความคิดพื้นฐานจะได้รับการพัฒนา
2. ช่วงสร้างความเชี่ยวชาญ (Specialization) เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนไปสู่ช่างต้นการการทำงาน และเป็นการรับประสบการณ์ส่วนบุคคลของวัยผู้ใหญ่ซึ่งจะได้รับการขัดเกลาทางสังคมจากสังคม การศึกษา องค์กร ที่จะตัดแต่งนำไปสู่พัฒนาการกลานเป็นรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะอย่าง เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในที่สุด
3. ช่วงบูรณาการ เป็นช่วงตั้งแต่ ช่วงกลางของอาชีพ ไปสู่ ช่วงบั้นปลายของชีวิต ในช่วงนี้จะไม่มีกิจกรรมการเรียนรู้แบบใด ครอบงำการเรียนรู้แบบอื่นเป็นพิเศษ ทั้งในชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว
พัฒนาการตามลำดับขั้นที่กล่าวไปนี้ แต่ละขั้นจะค่อย ๆ เพิ่มความซับซ้อนและความสัมพันธ์กันในการปรับตัวเข้ากับโลกรอบตัวเขา และยังเพิ่มการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 4 กิจกรรมระหว่าง AC และ CE และ AE และ RO
พัฒนาการจะถูกมองว่าเป็นเส้นพัฒนาการหลายเส้นโดยขั้นกับรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะของแต่ละบุคคล และเส้นทางชีวิตของเขา พัฒนาการของ CE จะเพิ่มความซับซ้อนทางความรู้สึกขึ้นไป พัฒนาการของ RO จะเพิ่มความซับซ้อนทางการรับรู้ พัฒนาการของ AC จะเพิ่มความซับซ้อนของสัญลักษณ์ และ พัฒนาการของ AE จะเพิ่มความซับซ้อนของพฤติกรรม
หากผู้จัดการโครงการ หรือฝ่ายบุคคลเข้าใจกระบวนการและประเภทของพนักงานตามรูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 4 แบบแล้ว ก็จะสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้พนักงานหรือ Talent ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้คนในองค์กรสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้มากขึ้น