Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback
Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทำงานแบบนี้พกสมองมาด้วยรึเปล่า?
  • ทำงานห่วยขนาดนี้ ไม่ต้องจบปริญญาตรีก็ได้มั้ง!
  • พี่ไม่เสียเวลาสอนงานเธอหรอก เพราะเธอโง่เกินกว่าจะเรียนรู้ได้

เราทุกคนน่าจะเคยได้รับฟีดแบค (Feedback) แบบนี้มาไม่มากก็น้อย ทั้งโดนด้วยตัวเอง / เห็นคนอื่นโดน / แม้แต่ตัวเราเองที่เผลอทำกับคนอื่น

การฟีดแบคแบบนี้นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำลายความสัมพันธ์ “ซื้อใจ” เพื่อนร่วมงานไม่ได้ด้วย (เหมือนเรียกไปด่าซะมากกว่า) ผลสำรวจจาก Gallup พบว่า มีพนักงานเพียง 26% เท่านั้นที่รู้สึกว่า ฟีดแบคจากหัวหน้าช่วยพัฒนาตัวเค้าขึ้นได้จริงๆ

ในการทำงานเราใช้จิตวิทยาไม่น้อย การฟีดแบคก็เช่นกัน ข่าวดีคือ มีสิ่งที่เรียกว่า “Constructive Feedback” ให้ฟีดแบคด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แถมยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกันได้ด้วย

1. เปิดด้วยเรื่องดี 

Constructive Feedback

มนุษย์จู่ๆ ไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์หรอก แต่มนุษย์ชอบได้รับการชมเชย-ชอบเป็นที่รักของคนอื่น นี่เป็น “กลไกธรรมชาติ” ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน

เราจึงต้องเริ่มต้นด้วย “ข้อดี-จุดแข็ง” เสียก่อน เพื่อให้อีกฝ่ายเปิดใจรับฟัง

  • พี่ชอบ Font ที่เราเลือกใช้ใน Artwork นี้มาก ดูภูมิฐานและหรูหรา
  • บทความนี้ใช้คำพูดได้สละสลวย ดูมีวาทศิลป์ในการเขียน
  • ประชุมเมื่อวาน พูดได้ชัดถ้อยชัดคำดีนะ เยี่ยมมาก

ผลการสำรวจของ Gallup ยังพบว่า 67% ของผู้รับ feedback โดยโฟกัสที่ข้อดี-จุดแข็งก่อนจะ เปิดใจฟัง 🡺 คล้อยตาม 🡺 ยอมรับผิด 🡺 และให้ความร่วมมือไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้นในที่สุด

2. พูดถึง “ความคิด” ของเขา ไม่ใช่ “ตัวเขา” 

Constructive Feedback

ก่อนจะให้ฟีดแบคลงลึกรายละเอียด ต้องย้ำอีกฝ่ายว่า เราให้ feedback กับผลลัพธ์ “พฤติกรรม” ของเค้า…ไม่ใช่ “ตัวตน” ของเค้า 

“ตัวตนเขาดี แต่แค่ ไอเดียเขาไม่ดี”…เรื่องนี้ต้องแยกให้ออกชัดเจน

ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ “เรื่องส่วนตัว” ระหว่างกัน…แต่เป็นเรื่องงาน

เรายังสามารถพลิกแพลงคำพูดได้เช่นกัน

  • แทนที่จะพูด “ไอเดียของคุณไม่เวิร์ค” เปลี่ยนเป็น 🡺 “ไอเดียนี้ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้”
  • แทนที่จะพูด “คุณขาดความรับผิดชอบ (เพราะมาสาย)” เปลี่ยนเป็น 🡺 “งานจะออกมาดีขึ้นถ้าคุณมาตรงเวลา”

Judy Nelson นักโค้ชและที่ปรึกษามืออาชีพ ยังแนะนำว่าให้เริ่มประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” แทน “คุณ” จะช่วยลดน้ำหนักความรุนแรงได้ เช่น

  • จาก “คุณมาสาย” ให้เปลี่ยนเป็น 🡺 “ฉันรู้สึกถูกเอาเปรียบ เมื่อคุณมาสาย”
  • จาก “คุณส่งงานช้า” ให้เปลี่ยนเป็น 🡺 “ฉันรู้สึกตัวเองเป็นหัวหน้าที่ไม่เอาไหน เมื่อคุณส่งงานช้า”

3. ดี 🡺 วิธีพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น / ไม่ดี 🡺 วิธีแก้ไขปรับปรุง 

หัวหน้าที่มีความเป็นมืออาชีพจะไม่บอกแค่ว่าดี-ไม่ดีอย่างไร แต่จะเสริมว่า 

  • ดี 🡺 แล้วทำยังไงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง? 
  • ไม่ดี 🡺 ปรับปรุงแก้ไขยังไงได้บ้าง? 

เช่น

  • “บทความนี้อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย…แต่พี่ว่าถ้าจะให้เห็นภาพชัดกว่านี้ ลองเพิ่มข้อมูลตัวเลขไปด้วยสิ และจะทำให้บทความดูน่าเชื่อถือกว่าเดิมด้วยนะ”
  • Artwork นี้สีสันฉูดฉาดแต่อาจจะทำให้สิ่งที่เราต้องการสื่อสารไม่เด่น…เปลี่ยนเป็นใช้แค่ 3 โทนสี และหนึ่งในนั้นเป็นสีใน Corporate Identity เพื่อให้คนจดจำแบรนด์เราได้ดีกว่ามั้ย

ถ้าให้ดี วาดออกมาเป็นแผนผังตารางให้เห็นภาพจะดีมาก

4. คนรับฟีดแบคก็เหมือนลูกค้า

ก่อนจะขายของลูกค้า เราต้องวิเคราะห์ลูกค้ากันละเอียดยิบ: Pain Point คืออะไร / เพศ อายุ กำลังซื้อ / ช่องทางติดต่อ

การฟีดแบคลูกทีมก็เช่นกัน เราต้องวิเคราะห์ให้ดีก่อนว่าเค้าเป็นคนอย่างไร Introvert-Extrovert / นุ่มนวล-แข็งกระด้าง / สุภาพนอบน้อม-ตรงไปตรงมา 

จากนั้นจึงค่อย ‘ปรับแต่ง’ การเลือกใช้คำพูด น้ำเสียง ลีลาท่าทาง ให้ถูกจริตคนนั้นเพื่อเกิด Impact มากที่สุด

และเมื่อพูดถึงลูกค้า เราก็ต้องไม่ลืม “รับฟัง” อีกฝ่ายด้วยเช่นกัน

บางทีเหตุผลที่เราพึ่งรู้จากปากของอีกฝ่าย อาจมอบมุมมองใหม่ให้เราก็เป็นได้ 

เช่น เราเห็นว่าลูกทีมคนนี้มาสายบ่อยๆ การฟีดแบคเลยจะโฟกัสที่ความตรงต่อเวลา แต่พอรับฟังจึงรู้ว่า เค้าประสบกับความยากลำบากในการเดินทางมาทำงานเพราะแถวบ้านกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้ากันยกใหญ่อยู่ หลีกเลี่ยงได้ยากมากๆ เมื่อรู้อย่างนี้เราอาจพิจารณา Work From Home ให้พนักงานคนนี้เป็นบางวันแทน 

5. Analogy เปรียบเทียบ 

Constructive Feedback

การ feedback ก็เหมือนการให้ข้อมูลอย่างหนึ่ง อีกฝ่ายจะจดจำได้ขึ้นใจก็ต่อเมื่อมันน่าสนใจหรือมีเอกลักษณ์แตกต่าง เมื่อเค้าจำได้ขึ้นใจ ก็มีแนวโน้มนำไปพัฒนาปรับปรุง

เช่น ผู้รับฟีดแบคเป็นเซลล์มือทองของบริษัทที่ช่วงหลังดูไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจและยอดขายเริ่มตกลง คุณจึงเปรียบเทียบเพื่อต้องการให้เค้ามีไฟกลับมาว่า 

  • บริษัทของเราก็เหมือน ทีมฟุตบอล
  • และตำแหน่งคุณคือ กองหน้า
  • พวกเราและคนอื่นคือ กองหลัง คอยสนับสนุนคุณอยู่
  • การป้องกันอย่างดีไม่ทำให้เราแพ้…แต่ก็ไม่ทำให้เราชนะเช่นกัน
  • เป็นหน้าที่ของกองหน้า ที่ต้องยิงประตูเพื่อเอาชัยชนะนะ!

ข้อนี้อาจยากหน่อย ต้องอาศัย Creativity…แต่ถ้าทำได้ เชื่อเลยว่าผู้รับฟีดแบคจะจำขึ้นใจไปอีกนาน!

.

.

Constructive Feedback เป็นทักษะจำเป็นที่หัวหน้า-ผู้นำองค์กรต้องมีไปแล้ว มันคือการสร้าง “สะพาน” ที่พาผู้คนสู่จุดที่สูงขึ้น และเพราะคนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของบริษัท ถ้ารู้วิธีพัฒนาคนก็สามารถพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้นั่นเอง

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ได้เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และหลงรักไปกับมันในทุกๆ วัน! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน