
ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เรายังทำงานเท่าเดิมหรืออาจจะหนักขึ้นอีก จะมีวิธีคุยเรื่องเงินเดือนเมื่อสมัครงานได้ยังไงบ้าง
หลายคนที่กำลังหางานใหม่ในตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไปที่ได้เงินเดือนสูงขึ้น หรือบางคนเพิ่งเรียนจบแต่ก็อยากได้ตำแหน่งสูงๆเงินเดือนสูงๆ ช่วงนี้มีคำถามเข้ามาในเพจของเรามากเป็นพิเศษเกี่ยวกับการต่อรองเงินเดือนในสถานการณ์แบบนี้ คงเป็นช่วงที่หลายคนยื่นใบสมัครไปแล้วและได้ offer มาแล้ว แต่จะคุยเรื่องเงินยังไงดีนะ วันนี้เรามีเทคนิคและวิธีคิดดีๆมาฝากกันค่ะ
1. กำหนดเป้าหมายเรื่องเงินให้ชัดเจน สูงสุด ต่ำสุด เท่าไหร่ที่รับได้
ก่อนเริ่มการต่อรอง เราควรมีตัวเลขในใจก่อน เพื่อให้การต่อรองมีเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่งงในตัวเอง
- น้อยที่สุดที่เรารับได้ แปลว่า เพียงพอในการใช้ชีวิตอยู่ได้ในแต่ละเดือน และจะไม่เสียใจที่เลือกงานนี้ หรือลงเอยด้วยการลาออกหลังจากตกลงทำงานเพียงไม่กี่เดือน
- มากที่สุดเท่าไหร่ที่เราอยากได้ แปลว่า “เหมาะสม” กับหน้าทีความรับผิดชอบและความทุ่มเทที่เราจะใส่ให้ และเราจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังจากนี้ แต่ต้องมั่นใจว่าถ้าเราได้งานนี้ที่เงินเดือนเท่านี้จริงๆ เราจะสามารถทำงานให้บริษัทแบบคุ้มเงินเดือนที่ได้รับมา ทั้งทักษะ ความทุ่มเททำงานหนัก และผลงานที่จะออกมา แล้วจะไม่ต้องโดนให้ออกทีหลังนะคะ
2. ระบุสิ่งที่เราจะยอมแลก เพื่อให้ได้เงินเดือนก้อนนี้ให้ชัดเจน
ได้ยินคำว่า “การต่อรอง” ย่อมต้องมีการแลกเปลี่ยนกันของสองฝ่าย การเปลี่ยนงานอาจจะไม่ได้วัดจากตัวเงินอย่างเดียวจริงมั้ย หลายคนเลือกงานนี้เพราะตอนแรกคิดว่าได้เงินเดือนเยอะ แต่พอเข้าไปทำจริงๆแล้วพบว่าสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยเงินจำนวนนี้นั้นทำให้เราอยากปาสลิปเงินเดือนทิ้งแล้วไปหางานอื่นแทน
- เวลาในการทำงาน ต้องทำงานนอกเวลา เสาร์อาทิตย์และวันหยุดด้วยรึเปล่า?
- สุขภาพทั้งกายและใจ งานเครียด งานหนัก งานที่ต้องรองรับจิตใจคน มักจะจ่ายค่าตัวคนทำงานที่สูงกว่างานที่เบาสบายจริงมั้ย?
- การเดินทาง ในแต่ละวันต้องรถติดอยู่บนถนนกี่ชั่วโมง ต้องมีรถของตัวเองรึเปล่า?
- การพัฒนาตัวเอง เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง บางงานเราต้องยอมไปลงคอร์สสัมมนาแพงๆ เพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองให้ทันอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง
- การเข้าสังคม งานที่เงินเดือนสูงๆ อยู่ในสังคมแพงๆ มีแนวโน้มที่เราจะมีค่ากินดื่มเที่ยวที่สูงตามมา
- ภาษีที่สูงขึ้น ลองคำนวณก่อนว่า เงินเดือนใหม่ที่เรากำลังอยากได้ โดยรวมแล้วเราต้องจ่ายภาษีในฐานสูงขึ้นรึเปล่า แล้วโดยรวมยังคุ้มอยู่มั้ย
- เนื้องานที่เราสนใจ มี passion มีพลังในการทำงาน บางทีก็อาจจะไม่ได้มาพร้อมกับเงินเดือนที่เราอยากได้
หลายคนอยากมีเงินเดือนสูงๆ ตำแหน่งสูงๆ สังคมแพงๆ แต่ก็มีเวลาเป็นของตัวเองชิลล์ๆ บอกเลยว่าเป็นไปได้ยากที่คนเราจะได้ทุกอย่าง การทำงานล้วนมีเงื่อนไขของมันอยู่เสมอ อันนี้คือเรากำหนดโจทย์ในการเปลี่ยนงาน หรือหางานเองให้ชัดเจนก่อน
ต้องชัดเจนกับตัวเองว่าอะไรที่เรา “อยากได้ รับได้ และอะไรที่เราไม่ต้องการ”
3. รู้มูลค่าของตำแหน่งงานที่กำลังสมัคร ในมุมของธุรกิจและบริษัทนี้
เงินเดือนที่เป็นไปได้ สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ มักถูกกำหนดด้วยสิ่งที่เรียกว่า “โครงสร้างเงินเดือน” มันคือตัวกำหนดมาตรฐานของทุกตำแหน่งงานในบริษัทนั้นๆว่า เมื่อเทียบกันแล้ว แต่ละตำแหน่งควรได้เงินเดือนขั้นต่ำและสูงสุดเท่าไหร่ เพื่ออะไรบ้าง?
- ให้เกิดความเท่าเทียมกันภายในบริษัท ในตำแหน่งงานเดียวกัน”หรือเทียบเท่า” ใช้ทักษะที่หายากพอๆกัน ผลงานที่คาดหวังพอๆกัน ต่ำกว่า หรือสูงกว่า ให้มีเงินเดือนที่สอดคล้องกัน ไม่โดดเกินไป หรือต่ำเกินไป
- เท่าเทียมกับตำแหน่งงานภายนอกบริษัท เพื่อเวลาหาคน ดึงตัวมาทำงานแล้วยังสามารถแข่งขันกันได้อยู่ ทั้งนี้ต้องดูหลายปัจจัยประกอบ บางทีบริษัทใหญ่ที่ชื่อเสียงและสวัสดิการดีมากอาจให้เงินเดือนน้อยกว่าบริษัทเล็กที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักและต้องใช้เงินเดือนเป็นจุดขายในการดึงคนเก่งๆมาทำงาน
- เหมาะสมกับสถานการณ์ทางธุรกิจของบริษัท หมายถึง ตำแหน่งงานนั้นๆจำเป็น สำคัญต่อการเดินหน้าต่อของธุรกิจนั้นรึเปล่า ถ้าคุณเป็นฝ่ายไอทีในบริษัททั่วๆไปอาจเป็นพนักงาน support แต่ถ้าดันเป็นธุรกิจรับพัฒนาเว็บไซต์ก็อาจกลายเป็นตำแหน่งที่สำคัญกว่าขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักขึ้นและมีแรงกดดันเรื่องเป้าทางธุรกิจมากกว่าสนับสนุนเฉยๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่า บริษัท หรือธุรกิจที่เรากำลังต่อรองด้วยตีมูลค่าตำแหน่งงานนี้เท่าไหร่ ก็จะทำให้เราสามารถหาจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายได้ง่ายขึ้น รู้เลยว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้
4. ศึกษา Market Price และทำการบ้านเรื่อง Salary Survey
เช็คเรทเงินเดือนในตำแหน่งของคุณในตลาดแรงงานก่อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่คุณอยู่เลยนะไม่ใช่กว้างๆทั่วๆไป เพราะมันอาจจะเทียบกันไม่ได้ สิ่งนี้เป็นตัวบ่งบอกได้ดีว่าตัวเลขที่คุณจะให้กับนายจ้างของคุณเมื่อเขาถามเงินเดือนที่คาดหวัง หรือ Expected Salary จะบอกว่าเท่าไหร่ดี จาก Market Price ของ Candidate ที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกับคุณ หรือสำหรับตำแหน่งงานนั้นๆ คุณสามารถมาเทียบได้กับตัวเลขที่คุณต้องการ
ทำความเข้าใจล่วงหน้าในเรทเงินเดือนที่คุณขอว่าสูงกว่าตลาด หรือว่าตำ่กว่าคนที่มีความสามารถเท่าคุณหรือไม่ สามารถหาได้จากเว็บหางานเช่น Adecco ก็มีการทำการสำรวจออกมาทุกปี
5. รู้ทันความต้องการของคนที่มีส่วนในการตัดสินใจ
เวลาเราต่อรองเงินเดือน เรากำลังต่อรองกับตัวบุคคล คือหัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจ
- ต่อรองกับฝ่ายบุคคล และเป็นตำแหน่งที่หาคนมานานแล้วยังไม่ได้คน เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ทาง HR ก็จะอยากให้สามารถปิดการหาตำแหน่งนี้ได้โดยเร็ว
- ต่อรองกับเจ้านายในอนาคตของคุณ ตำแหน่งนี้อาจจะเป็นตำแหน่งที่ในสายตาของเจ้านายคุณไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก เพียงแค่มาเป็นแขนขาให้ความสะดวกสบายกับตัวเค้าเท่านั้น วิธีการต่อรองก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าตำแหน่งนี้เจ้านายของคุณต้องการได้คนที่มาทำในสิ่งที่เขาทำไม่เป็น คุณก็จะมีอำนาจต่อรองในอีกแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้นสำคัญมากที่เราจะทำความเข้าใจการตีค่าและความหมายของตำแหน่งงานที่สมัครในสายตาของคนที่กำลังต่อรองด้วย

6. พูดเรื่องเงินให้ถูกเวลา
ค่าตัวเราจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับคนที่จ้างเราตัดสิน ความสามารถและประสบการณ์ของเรา และความคาดหวังในเรื่องผลงานที่บริษัทจะได้รับ เรื่องของค่าตอบแทนบางทีก็ถูกถามมาหลังจากสัมภาษณ์เสร็จเลย
แต่บางคนยังไม่ทันสัมภาษณ์เลยว่าเรามีอะไรดีจะทำให้บริษัทได้บ้าง ก็ถามเรื่องเงินเดือนก่อน ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิด บางคนมองว่าถ้าเงินไม่ได้ก็ไม่น่าจะต้องคุยกันเสียเวลา HR บางที่ก็ไม่อยากจะเสียเวลาถ้าเกิดเป้าหมายไม่ตรงกัน
แต่ความคิดเห็นส่วนตัวอย่าเพิ่งตัดโอกาสตัวเอง แนะนำให้คุยเรื่องตัวงานและความสามรถของเราก่อนจนฝ่ายนายจ้างเห็นคุณค่าของเรา และเมื่อเราผ่านรอบการสัมภาษณ์แล้ว ถึงเริ่มขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอ จากนั้นค่อยต่อรองจะทำให้มีโอกาสที่อาจจะได้มากกว่าเรทที่ตอนยังไม่รู้จักกันเลย

7. ต้องหา Option อื่นไว้เป็น Back Up อย่าจนตรอก
สุดท้ายถ้าเราได้ offer ในสิ่งที่ไม่ต้องการ หรือตัวเลขที่เรารับไม่ได้ เราควรจะหา option ที่เป็นตัว back up ไว้บ้าง เพราะว่าถ้าเราต่อรองโดยที่เราไม่ได้มี back up plan เราก็จะมีความกดดันและสูญเสียอำนาจในการต่อรอง
ถ้าเรารู้ว่าด้วยตัวเลขเท่านี้ เรามีงานที่อื่นที่เราสนใจมากกว่า หรือว่าเราทำงานเดิมก็ได้ ให้เก็บ option นี้ไว้ในกระเป๋าแล้วเราจะไม่ต้องต่อรองด้วยความรู้สึกว่าหลังชนฝาไม่มีทางเลือกอื่น และต้องจำใจยอมรับข้อเสนอแล้วมาเสียใจภายหลัง
บางคนไม่ได้หางานอื่นไว้เลย พอฝ่ายที่เราต่อรองด้วยรู้ว่าเราต้องการงานนี้มากๆแถมไม่มีทางเลือกอื่น เขาก็มีอำนาจต่อรองไว้มากกว่าแล้ว แต่ก็ต้องบาลานซ์ไม่ใช่โอ้อวดว่ามีงานรออยู่มากมายไม่ทำงานนี้ก็ได้จนเขาหมั่นไส้นะ 🙂
สุดท้ายก็ยังอยากชวนให้ทุกคนพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดแต่จะเรียกเงินเดือนสูงๆทั้งๆที่เราไม่มีทักษะหรือประสบการณ์ บางช่วงอาจจะต้องยอมลดเงินเดือนเพื่อให้ได้อัพประสบการณ์ตัวเองก่อน แล้วพอเราเก่งแล้วเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการนั้นๆจริงๆก็ค่อยถึงคราวเล่นตัวเรียกเงินเดือนสูงๆได้ก็ไม่มีใครว่าอะไรแล้ว
มีคำถามเรื่องการสมัครงาน เลื่อนตำแหน่ง อัพเงินเดือน ปรึกษาด่วน คลิกที่นี่