
ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤตทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจและการเมือง ผู้นำเป็นบุคคลแรกๆที่ทุกคนนึกถึง เป็นทั้งสาเหตุของวิกฤตและความหวังในการผ่านพ้นไป แทบไม่ต่างกันทั้งในภาพของประเทศ หรือภาพของบริษัทต่างๆ ที่มีหัวหน้างานและทีมงานเป็นตัวขับเคลื่อน
วันนี้เราจะมาชวนดูลักษณะของผู้นำ 5 อย่างที่ทีมงานอยากเห็น ที่จะสร้างแรงบันดาลใจและพลังให้กับทีมงานในการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และผลิตผลงานที่ดีต่อไปในอนาคต
1. ไม่ต้องทำทุกอย่างเอง มอบหมายงานบ้างก็ได้
ปัญหาหลักๆ ของคนที่เพิ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้างานคือ ตัวเองทำเป็นทุกอย่าง จัดการทุกอย่างเองได้ พร้อมลุย พร้อมชน ครบหมดจบที่เรา “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” จนได้รับความไว้วางใจให้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้างาน
เมื่อเรากลายเป็นผู้นำทุกสิ่งจะเน้นไปที่การตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์มากกว่าแทน หากยังแย่งงานลูกน้องมาทำอยู่ ไม่แบ่งงานให้คนอื่นได้พัฒนาหรือโชว์ความสามารถบ้าง สิ่งที่ตามมาคือเวลามากมายที่คุณจะสูญเสียมันไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น พร้อมกับระบบการทำงานของคนในทีมจะรวนถ้าหัวหน้าเข้ามาแทรกแซงรายละเอียดที่ไม่จำเป็นมากเกินไป
หัวหน้างานต้องเลิกจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ยังช่วยสนับสนุนการทำงานของทีม ให้ทิศทางการทำงาน เครื่องมือ งบประมาณ และคอยแก้ปัญหาที่สำคัญๆหรือซับซ้อนให้แทน
ผู้นำที่ดีต้องใช้พลังไปกับการทำความเข้าใจสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น มากกว่าโฟกัสที่ตัวเองเพียงอย่างเดียว ทำให้มองเห็นต้นตอของปัญหาได้ชัดมากกว่า ด้วยความคิดที่พยายามทำความเข้าใจคนอื่นๆ พยายามพาคนในทีมให้ไปถึงจุดหมายด้วยกัน มากกว่าผลักให้พวกเขาไปหาคำตอบมาให้ ความเห็นใจคนในทีมจะช่วยให้คนในทีมอยากจะลงมือทำงานร่วมกันไปจนถึงปลายทางได้ในที่สุด
2. ให้ทีมรู้จักความผิดพลาดบ้างก็ได้
เหตุผลหลักที่ผู้จัดการหรือหัวหน้างานหลายคนไม่ยอมกระจายงาน ก็เพราะกลัวทีมงานจะทำพัง ไม่ดีเท่าตัวเองทำ ซึ่งนั่นคือเรื่องจริง แต่อย่าลืมว่าการให้โอกาสให้คนอื่นได้ผิดพลาด คือจุดเริ่มต้นในการพัฒนา
แม้ว่าคนที่เป็นผู้นำจะรู้ไปหมดทุกอย่าง แต่อย่าลืมว่าลูกทีมผู้น่ารักยังที่อยากจะเติบโตบ้าง ต้องการได้รับโอกาสในการทำงาน และต้องการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาคนที่มีความสามารถรอบตัวคุณ เพื่อภาพรวมของผลงานที่มีประสิทธิภาพ
Gallup บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เปิดเผยว่า ธุรกิจที่มีคนที่มีความสามารถมากและมอบหมายงานให้ผู้อื่นได้ดี เติบโตและมีรายได้ที่สูงขึ้นมากกว่าธุรกิจอื่น
หัวหน้าที่ดีจะชอบฟัง ชอบตั้งคำถามเรื่องต่างๆ มากกว่าการประชุมโดยมีคำตอบในใจอยู่แล้ว การฟังความเห็นของหลายๆ ฝ่ายจะช่วยให้มองเห็นทางออกของปัญหาได้ดีขึ้น และเห็นปัญหาได้รอบด้านมากกว่า โดยส่วนใหญ่ทุกคนที่เข้าประชุม ต่างก็เตรียมไอเดียของตัวเองมากันทั้งนั้น
3. ไม่เฟค เปิดเผย โปร่งใส ซื่อสัตย์แบบไม่ต้องให้ลูกน้องมาตรวจสอบ
ทีมงานของ Harvard Business School กว่า 70% บอกว่า เขารู้สึกดีกับองค์กรเมื่อผู้นำสื่อสารอย่างเปิดเผย ไม่ได้มัวปั้นคำพูดสวยหรูแต่จับต้องไม่ได้ สร้างภาพ ความเรียลและจริงใจต่างหากทำให้ทีมงานรู้สึกกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน
ทั้งๆที่ทุกคนรู้กันว่า ผู้นำที่ดีต้องซื่อสัตย์โปร่งใส แต่หลายคนกลับไม่แสดงออก ทำให้ทีมงานต้องมาคอยสงสัยหรือคิดไปเอง ตีความไปเองเกี่ยวกับนโยบายหรือการตัดสินใจต่างๆของบริษัท จนสุดท้ายกลายเป็นเข้าใจกันผิดและต้องจบกันไม่ดี
ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการสื่อสารอย่างโปร่งใส พูดน้อยแต่ต่อยหนัก กลั่นกรองคำพูดมาอย่างละเอียดให้เหลือแต่ประเด็นสำคัญๆ มีแต่เนื้อไม่ต้องมีน้ำมาก คนฟังจะเข้าใจประเด็นได้ง่ายกว่า และใส่ใจกับหัวข้อที่กำลังพูดคุยอยู่ให้มากๆ จะส่งผลให้คนร่วมประชุมเกิดความรู้สึกร่วมและอินมากกว่าเดิม
4. พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เป็นแบบอย่างให้คนอื่นอยากทำตาม
การขึ้นมาเป็นหัวหน้าในรูปแบบใดๆ ก็ตาม สามข้อข้างต้นนี้ก็ยังคงสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำเสมอ แต่อย่าลืมว่าความคิดเชิงกลยุทธ์ของหัวหน้าเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาทีมประสบความสำเร็จ ดังนั้นหัวหน้าต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาให้ทันโลก รวมถึงแชร์ความรู้และประสบการณ์ให้ทีมฟังอยู่เสมอ เพราะหัวหน้างานมีโอกาสได้ออกไปเข้าฝึกอบรมหรือร่วมงานต่างๆมากกว่าทีมงาน เห็นโลกมากกว่า
นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกทีมในการเติมไฟในการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ไอเดียระหว่างกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กรที่ดีเพื่อสร้างความรู้ ไอเดียการทำงานใหม่ๆอีกด้วย
5. ยอมรับว่าไม่เก่งบ้างก็ได้
Simon Sinek ผู้เขียนหนังสือ Start with why เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้นำที่ดีไม่ใช่คนที่แข็งแกร่งที่สุด แต่คือคนที่ซื่อสัตย์กับจุดอ่อนของตัวเอง ผู้นำที่ดีไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่คือคนที่รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อีกมากแค่ไหน ผู้นำที่ดีไม่ใช่คนที่ทำได้ทุกอย่างแต่คือคนที่รู้ว่าใครจะช่วยเขาได้ คนที่เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น แต่มองตัวเองเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง”
หัวหน้ามักต้องพยายามทำตัวเก่งตลอดเวลา เพราะกลัวจะไม่ได้รับการยอมรับจากทีมงาน แต่จริงๆแล้วการยอมรับตัวเองต่างหากสำคัญและน่าชื่นชมมากกว่า
ความอ่อนแอนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ผู้นำที่ดีจะยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เก่งไปซะทุกอย่าง แต่อาจจะเป็นคนบริหารเวลาไม่ดีพอ หรือพรีเซ้นต์ไม่เก่งพอ หรือขาดทักษะด้านนั้นๆอีกมาก และต้องการให้ทีมช่วยเสริมในด้านที่ขาดไปบ้างในบางเวลา
สุดท้ายแล้ว ไม่มีหัวหน้าคนไหนที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเองคนเดียว แต่คือลูกทีมทุกคนที่ช่วยกัน