
นอกจากการเรียบเรียงเนื้อหาที่ดีแล้ว ภาพบนสไลด์ที่สวยสบายตาก็มีส่วนสำคัญในการทำให้การนำเสนอนั้นน่าสนใจ ดึงดูดผู้ฟังยิ่งขึ้น การอาศัย template สำเร็จรูปใน powerpoint อาจดูปลอดภัย แต่คงไม่เพียงพอที่จะทำให้สไลด์โดดเด่นโดนใจ
หากนึกไม่ออกว่าควรทำอย่างไร เรามีตัวอย่างคำแนะนำดี ๆ จากหนังสือพูดด้วยภาพ by BetterPitch มาฝาก รีวิวหนังสือ พูดด้วยภาพ 1-2 เขียนโดย พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล ราคา 350 บาท และ พูดด้วยภาพ 2 ราคา 380 บาท จัดจำหน่ายโดย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
เทคนิคการเลือกสีสไลด์ (Color Theme)
- ไม่ควรมีสีหลากหลายเกินไป ให้เลือกแค่ 3 สี
- สีเน้นหรือสีเจ็บ (high saturation) ใช้กับใจความสำคัญ (key message) เท่านั้น การใช้แม่สี หรือสีแรงทั่วทั้งสไลด์ทำให้ปวดตา อ่านเข้าใจยาก
- สีหลัก เป็นตัวกำหนดบรรยากาศของสไลด์ เลือกสีหลักจากความหมายโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น สีโลโก้บริษัท นำมาใช้เป็นสีกรอบหรือเส้น ตัวหนังสือ สีของรูปร่างต่าง ๆ กรณีสีโลโก้เป็นสีเจ็บ ให้ใช้สีหลักเป็นสีเทา แล้วใช้สีโลโก้เป็นสีเน้นแทน
- background ควรเป็นสีจืด (low saturation) จะช่วยให้สบายตาและขับให้สีเน้นเด่นขึ้น
- สัดส่วนที่เหมาะสมของ สีพื้นหลัง:สีหลัก:สีเน้น คือ 70:25:5

เทคนิคการจัดพื้นที่ slide
- สไลด์ที่เข้าใจง่ายนั้น แม้ผู้ฟังอ่านเนื้อหาไม่ครบทุกตัวอักษรก็ยังสามารถเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้
- หลักการไล่สายตาตามธรรมชาติคือ เส้นทแยงมุม จากมุมซ้ายบนลงมามุมขวาล่าง หรือเป็นรูปตัว Z แต่ถ้าตัวหนังสือยาวเกินไป คนอาจเลิกอ่านก่อนจบหางตัว Z
- หากมีภาพประกอบ จะดึงความสนใจผู้ฟังให้ดูภาพก่อนอ่านข้อมูล ดังนั้นให้ใส่ภาพที่สื่อความหมายได้ชัดเจน
- มั่นใจในสิ่งที่จะนำเสนอในสไลด์นั้น ๆ ทำออกมาให้เด่น ไม่ควรใส่รูปนิดตัวหนังสือหน่อย หรือมีหลายอย่างเกินไป
เทคนิคการเลือกฟ้อนต์ (Font) ในสไลด์
- ควรเลือกแบบที่อ่านง่ายแม้มองแค่ผ่าน ๆ
- หลีกเลี่ยง font ที่ใช้ในงานพิมพ์เอกสารทั่วไปบนกระดาษ เพื่อให้แตกต่าง
- ไม่ควรไล่สี ใส่เงา ทำให้อ่านยากขึ้น
- ขนาดของ font ที่เป็นหัวข้อควรใหญ่กว่าเนื้อหา 1-1.3 เท่า
- วิธีเช็คว่าขนาด font เล็กไปหรือไม่ ทำได้โดยตั้งค่า zoom 66% แล้วต้องอ่านออก
- ไม่ควรใช้ font สีดำสนิท อ่านแล้วปวดตา ให้เลี่ยงไปใช้สีเทาเข้มแทน
เทคนิคการตกแต่งด้วยไอคอน (Icon)
- ใส่ icon แทนตัวหนังสือช่วยให้ผู้ฟังจดจำได้ง่ายขึ้น
- แบ่งเป็นแบบ line icon (ลายเส้น) และ fill icon (มีสีภายใน)
- จะใช้แบบใดก็ควรเลือกแบบให้สอดคล้องกันทั้งหมดทุกรูป เพื่อให้สไลด์สบายตา ลื่นไหล ผู้ฟังจะย่อยข้อมูลได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้ clipart 3 มิติ เพราะมีรายละเอียดมากเกินไป ลายตา ย่อยข้อมูลได้ยาก
เทคนิคการทำกราฟ (Chart) แบบต่างๆ
- เรียงข้อมูลจากน้อยไปมาก เพื่อสร้างลำดับการอ่านทำให้เข้าใจแผนภูมิได้ทันที
- ไล่สีของแผนภูมิจากอ่อนไปเข้ม หรือใช้โทนสีเทาในชิ้นที่ไม่สำคัญ ช่วยให้ผู้ฟังไล่สายตาไปยังข้อมูลสำคัญ
- คำกำกับไม่ควรวางแบบเอียง ทำให้ใช้เวลาอ่านมากขึ้น
- Pie chart เริ่มอ่านที่จุด 12 นาฬิกา วางชิ้นที่ใหญ่ที่สุดแล้วไล่ตามเข็มนาฬิกา หากมีชิ้นย่อยจำนวนมาก ควรรวมแล้วระบุเป็น others โยงมาอธิบายต่างหาก
หนังสือพูดด้วยภาพมี 2 เล่ม
พิมพ์สี่สีตลอดเล่ม ในเล่มแรก มีหลักการพื้นฐานในการเลือกใช้สี ตัวอักษร ภาพประกอบ infographic การเน้นส่วนสำคัญของข้อความและการจัดลำดับคามสำคัญของเนื้อหา การจัดองค์ประกอบให้อ่านง่าย การนำเสนอข้อมูลแบบตาราง กราฟเส้น แผนภูมิต่าง ๆ การใช้แผนที่ประกอบ ทุกหัวข้อมีตัวอย่างที่ถูกและผิดให้ดูประกอบ ท้ายเล่มมีตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษที่ใช้ในการพูดนำเสนองานวิจัย/thesis ตั้งแต่ต้นจนจบ

ส่วนในเล่ม 2 จะลงลึกถึงวิธีทำสไลด์ PowerPoint โดยบอกเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด ข้อผิดพลาดที่ต้องระวัง การใช้ปุ่มลัดต่าง ๆ และ function ที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าสามารถปรับแต่งเองได้ สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อน present รวมไปถึงแนะนำ website ที่มีไอคอนให้เลือก download ฟรี หรือตัวอย่างชุดสีให้เลือกใช้
นี่จึงเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทำสไลด์ให้สวยแบบมืออาชีพ สำหรับสายงานที่ต้องใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ นักการตลาด สายดาต้า หรือสายงานอื่นๆที่ต้องเสนองาน ควรมีเก็บไว้เป็นคู่มือข้างกายขณะเตรียมงานนำเสนองานเลย!