ภาวะนี้มีชื่อเรียกว่า Gaslighting ลักษณะคือ คนทำจะใช้คำพูดหลอกล่ออีกฝ่ายให้รู้สึกฉุกคิดเกิดความสงสัยในตัวเอง
“เฮ้ยหรือว่าเราเองเป็นคนที่ผิด?”
คอยเบี่ยงเบนความคิดออกจากประเด็นหลัก สั่นคลอนจุดยืนทางความคิดของอีกฝ่ายแบบเนียนๆ ฝ่ายที่ gaslighting ใส่คนอื่น ลึกๆ คือต้องการเป็นฝ่าย บงการควบคุม (Manipulate)
คนที่โดน gaslighting ไปนานๆ ความมั่นอกมั่นใจในตัวเอง (Self-esteem) จะลดน้อยลง ซึ่งไปกระทบการทำงานทุกเรื่อง เช่น Productivity น้อยลง ถูกปั่นหัวแล้วใครจะมีสมาธิทำงาน, Creativity ไม่ดีเหมือนก่อน ก็แหม โดนปั่นซะขนาดนี้, Presentation ไม่น่าดึงดูดเหมือนเคย บางทีกลัวโดนจับผิดอีก, หรือการ Collaboration กับคนในทีมไม่ราบรื่น
Gaslighting เป็นรูปแบบหนึ่งของการ ทารุณกรรมทางจิตวิทยา (Psychological abuse) เลยทีเดียว และหนึ่งในสถานที่เกิดเหตุก็มี “ออฟฟิศ” ที่ทำงานรวมอยู่ในนั้นด้วย! บรรดาคนเป็นหัวหน้าจึงควรรู้เรื่องนี้ไว้ให้ดี เพื่อบริหารความสัมพันธ์ของคนในทีม ไม่ให้นำไปสู่ Toxic workplace culture ที่ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนอกจากช่วยให้อัตราการลาออกสูงขึ้น
วิธีสังเกตการทำ Gaslighting
กลวิธีแนบเนียนเกิดขึ้นได้หลายแบบ แต่มีแพทเทิร์นคล้ายกันคือ จะพยายามให้อีกฝ่ายตั้งคำถามกับความจำของตัวเอง เป็นการเล่นกับกระบวนการทำงานของสมองมนุษย์ เพราะเอาเข้าจริงแล้วสมองคนเราไม่ได้จำแม่นขนาดนั้น เราจำผิดๆ ถูกๆ อยู่ตลอด ผสมปนเปกันมั่งไปหมดก็มี
- “อ้าว ก็บอกไปแล้วนี่ จำไม่ได้เหรอ?!!”
- “เดี๋ยวก่อน ใจเย็นนะๆ นี่แน่ใจจริงๆ แล้วใช่ไหมถึงคิดอะไรแบบนี้ออกมาได้น่ะ?”
- “จริงๆ ก็แอบผิดหวังนะ สมัยก่อนคุณไม่เห็นเป็นแบบนี้เลยนี่”
เช่นในกรณีที่ไม่มีการเก็บหลักฐานเอาผิดหรือสืบการกระทำย้อนหลังได้ มักจะกระทำแบบนี้..
- ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่เคยพูด โกหกได้หน้าตาเฉย
- หรือ acting เล่นละครอย่างแนบเนียนให้ผู้อื่นสงสาร
กรณีที่บ้ง ความจริงปรากฎ แต่เจ้าตัวที่ทำ gaslighting ก็มักจะหาทางหนีทีไล่ ด้วยวิธีต่างๆ สร้างความปวดส่งท้ายเข้าไปอีก เช่น
- “ปัญหาแค่นี้เอง คุณทำแบบนี้มันไม่มากเกินไปเหรอ? เชื่อผม เราพอแค่นี้เถอะขอร้อง อย่าให้อะไรๆ บานปลายไปมากกว่านี้เลย”
- “นาย A เป็นตัวต้นเรื่อง ผมอยู่ปลายแถว ก็ต้องตามน้ำกันไป”
- “แหม ไม่เอาน่า ตอนนั้นก็แค่พูดเล่นๆ พูดเรื่อยเปื่อยแค่นั้นเอง เห็นเป็นคนกันเองนะเนี่ยเลยพูดแบบนั้นไป เอาน่า นิดๆ หน่อยๆ ไม่ต้องคิดมาก”
- “เอาเป็นว่า ขอโทษด้วยล่ะกันถ้าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ” แล้วรีบตัดบทจบ รีบปิดโจทย์ปัญหา กลายเป็นว่าถ้าคุณพูดต่อ จะกลายเป็นคนที่ซีเรียสจริงจังเกินเหตุหรือดูเย็นชาไปเลย
- “ถ้าคุณลองมาเป็นผมดูก่อนสิ คุณก็จะทำเหมือนผม เราไม่ต่างกันหรอก”
ป้องกัน Gaslighting ยังไงดี?
ในฐานะหัวหน้าทีม สามารถวาง “มาตรฐานการทำงาน” ให้สูงรัดกุมไว้ก่อนได้เลย
หนึ่งในวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการเก็บ “หลักฐาน” การทำงานเอาไว้ ตัวอย่างเช่น
- ทุกการประชุมออนไลน์สำคัญๆ ให้ record บันทึกการประชุมทุกครั้ง
- ถ้ามีการสัมภาษณ์ ถกเถียง ขอความเห็นเชิงลึก ให้อัดเสียงเก็บไว้
- ถ้าเป็นไปได้ ทุกชิ้นงานสำคัญๆ ในแต่ละโปรเจคท์ควรทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาวะ leadership บังคับให้หัวหน้าต้องมี common sense ในการคอยสังเกตเฝ้าระวังพฤติกรรม gaslighting ที่อาจเกิดขึ้นภายในทีมของคุณ หรือจากทีมอื่นๆ ที่เข้ามาสร้างผลกระทบทีมของคุณเอง เมื่อจับสัญญาณได้ก็ต้องตัดไฟแต่ต้นลม
บางที gaslighting อาจมาจากความไม่ลงรอยกันของคนในทีมเป็นทุนเดิม เคสนี้ ย้อนกลับไปตอน recruitment แต่แรกได้ให้รับสมัครพนักงานใหม่ที่มีวัฒนธรรมและสไตล์การทำงานใกล้เคียงกัน แต่กรณีรับเข้ามาแล้วและเกิดประเด็นขึ้นมา หัวหน้าสามารถจุดประกายความคิดให้คนในทีมรู้สึกว่าพวกเราต้อง “พึ่งพาอาศัยกัน” ให้ฟีดแบคแบบตรงๆ ในภาษาที่คิดถึงใส่เขาใจเรา ให้ความร่วมมือกันแบบเปิดเผย ผิดพลาดให้อภัยกันได้
ไม่ต่างจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงาน gaslighting ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอเพราะเราทำงานกับคน แต่อยู่ที่ว่าเมื่อมีสัญญาณเกิดขึ้นแล้ว หัวหน้าที่มีภาวะผู้นำจะ take action อย่างไรต่างหาก…
อ้างอิง
- https://www.psychologytoday.com/us/blog/communication-success/202007/7-signs-of-gaslighting-at-the-workplace
- https://blog.hubspot.com/the-hustle/gaslighting-at-work#:~:text=Gaslighting%20at%20work%20is%20a,use%20sneaky%2C%20sometimes%20charming%20tactics.
- https://www.betterup.com/blog/gaslighting-at-work