ลูกทีมมีแต่ตัวจี๊ด-ตัวตึง? ลองใช้เทคนิค 4E+1P

ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่ทั้งเก่ง ขยัน และรักการสร้างทีมให้โตไปพร้อมกัน แต่ปรากฎว่าสมาชิกในทีมเต็มไปด้วย “ตัวจี๊ด-ตัวตึง” ที่มักทำคุณเสียอารมณ์และเสียสมาธิอยู่บ่อยๆ บางทีนั่นคือสัญญาณว่าคุณขาด “คุณสมบัติความเป็นผู้นำ” บางอย่างในตัวไปต่างหาก!

ขอแนะนำให้รู้จักกับคุณสมบัติของผู้นำในแบบฉบับ Jack Welch อดีต CEO ชื่อดังแห่งบริษัท General Electric (GE) เขาได้นำเสนอเทคนิคเฟรมเวิร์คหนึ่งที่ไม่ได้ยึดตามตำราทฤษฎี แต่เป็นผลลัพธ์ที่ตกผลึกจากประสบการณ์สำเร็จในชีวิตจริง เป็นหนึ่งในเทคนิคที่ทำให้เขาได้รับคำชื่นชมจากบรรดาผู้บริหารระดับสูงขององค์กรยักษ์ใหญ่ เทคนิคนั้นคือ ”4E+1P”

 

หัวหน้าที่สยบทุกตัวจี๊ด-ตัวตึง

 

4E+1P เป็นตัวย่อมาจาก…

 

Energy = หัวหน้าเป็นคนมีเอเนอจี้เยอะ 

 

หัวหน้าคนไหนที่เคี่ยวเข็นลูกน้องได้ทุกวี่ทุกวัน นั่นแหล่ะคือหัวหน้าที่มีพลัง Energy ล้นเหลือ พร้อมพุ่งชนปัญหา พร้อมรับโปรเจคท์ใหม่ๆ แม้จะต้องเหนื่อยกว่าเดิม มักไม่ค่อยบ่นเรื่อยเปื่อย แต่คิดหาทางแก้ปัญหาเลย เป็นคนที่ออกไปยืนพรีเซนท์บนเวทีได้อย่างมั่นใจ แต่ละวันตารางคิวงานเพียบแต่ก็บริหารจัดการได้เป๊ะ เวลาหัวหน้าแบบนี้เดินผ่าน เราสัมผัสได้ถึง Positive energy มันมีออร่าในตัวเขาบางอย่างที่บอกไม่ถูก รู้แต่ว่าเอเนอจี้ล้นเหลือ

 

  • ลองถามตัวเอง… “คุณได้มอบเอเนอจี้กับลูกน้องในทีมทุกวันรึเปล่า?”


Energize = หัวหน้าต้องกระตุ้นคนอื่นให้มีเอเนอจี้ตามไปด้วย

 

หัวหน้าที่เก่งการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องไฟลุกโชน ออกมาโชว์ roadmap ที่ทำให้ลูกน้องกล้าเดินตาม มีทักษะโน้มน้าวเป็นเลิศ เป็นคนที่เวลาคุยกันเสร็จ…ลูกน้องมักรู้สึก Cheer up! มีแรงใจมีกำลังใจในการลุยงานต่อ!

 

  • ลองถามตัวเอง… “ลูกน้องอยากทำงานกับคุณมากน้อยแค่ไหน?”

 

Edge = ตัดสินใจเฉียบคม

 

หัวหน้าที่กล้าตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ และพร้อมเสนอหน้ารับผิดชอบแทนคนอื่น ไม่ใช่เพราะความเครซี่ แต่ทำไปโดยมีสติและจิตสำนึกที่ดี หัวหน้าแบบนี้กล้าตัดสินใจยากๆ แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน เพราะรู้ดีว่าสถานการณ์จริง ถ้าจะต้องรอข้อมูลจนครบก่อนตัดสินใจ…อะไรๆ อาจไม่ทันการ

 

  • ลองถามตัวเอง… “รู้รึเปล่าว่าตอนไหนควรตัดสินใจยากๆ?”



Execution = ลงมือทำให้สำเร็จ เป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง

 

หัวหน้าที่ไม่ใช่แค่ทำให้งานเสร็จ จบ กลับบ้าน แต่เป็นคนหัวหน้าที่ต้องการทำให้งานชิ้นนึงสำเร็จ ทำงานเสร็จ VS. ทำงานสำเร็จ ไม่เหมือนกัน Execution จะเป็นแบบหลัง ไม่หยุดคิดแค่ว่าตัวเองได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องไปแล้วมากแค่ไหน ไม่หยุดคิดแค่ว่าได้ตัดสินใจยากๆ อะไรไปแล้วบ้าง แต่ยึดที่ตัวผลลัพธ์ Final result เป็นศูนย์กลาง

 

  • ลองถามตัวเอง… “อะไรคือผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นกันแน่?”

 

Passion = หัวหน้าโชว์ความหลงใหลมุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำ

 

ลูกน้องสามารถ sense ได้ว่าหัวหน้าที่มี Passion มักทำมันออกมาด้วยใจ แทบแยกไม่ออกระหว่างงาน-ชีวิตส่วนตัว ยอมทุ่มหมดหน้าตัก ยอมทำงานเกินค่าตัว สามารถเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปได้เป็นวันๆ โดยไม่เบื่อ เป็นคนที่ชอบเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกทีม แถมโฟกัสด้วยว่าผลงานที่ทำออกมาต้องมีความเป็น Original ในแบบตัวเอง แตกต่างไม่เหมือนใคร มีคุณค่าที่เลียนแบบได้ยาก

 

  • ลองถามตัวเอง… “คุณสามารถแยกงานกับชีวิตส่วนตัวออกได้มากน้อยแค่ไหน?”




เรื่องที่เราต้องยอมรับคือ ไม่มีใครทำได้ดีครบทุกข้อแม้จะเป็นผู้บริหาระดับสูงแล้วก็ตาม แต่หัวหน้าต้องค้นหา “จุดแข็ง-จุดอ่อน” ของตัวเองให้เจอ ลองให้ score ตัวเองแต่ละข้อแบบตรงไปตรงมา โดยให้โฟกัสที่จุดแข็งและพยายามลบจุดด้อย

 

เช่น คุณอาจเป็นหัวหน้าที่มี Energy ในการทำงานสูงลิบทุกวันและตลอดวัน แต่ไม่สามารถ Energize ถ่ายทอดให้ลูกทีมไฟลุกตามได้ดีพอ…ทางออกอาจเป็นการลงคอร์ส Communication เพื่อหาวิธี Energize ได้ดีกว่านี้

 

หรือคุณเป็นหัวหน้าที่มี Passion อันน่าหลงใหลจนลูกทีมคล้อยตามได้ง่าย แต่ขาด Edge การตัดสินใจอันเฉียบคมเมื่อสถานการณ์วิกฤติมาถึง จนทำลูกทีมขาดความไว้วางใจในที่สุด

 

เราจะเห็นว่า 4E+1P เป็นเทคนิคเฟรมเวิร์คที่เรียบง่าย แต่สามารถแยกแยะ “ความเป็นหัวหน้าในตัวคุณ” ออกมาเป็นช็อตๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ นอกจากใช้ประเมินตัวเองแล้ว ยังนำไปใช้สกรีนแคนดิเดตใหม่ๆ ที่จะเข้ามาร่วมทีม หรือใช้วัดภาวะความเป็นผู้นำของใครต่อใครได้เลย

 

เชื่อเลยว่าถ้าเรานำ 4E+1P มาใช้อย่างเป็นระบบ บิ้วด์จุดแข็ง-อุดจุดอ่อน ไม่ว่าลูกทีมจะตัวจี๊ดตัวตึงแค่ไหน…ก็เอาอยู่!!

 

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ดูยังไงว่าคนสัมภาษณ์งานกำลังพูดไม่จริง

ผลวิจัยเผยว่า คนเรา “โกหก” ซึ่งๆ หน้าเวลาสัมภาษณ์งานมากกว่าที่คิด เพื่อปกปิดเรื่องที่ไม่อยากให้รู้ หรือให้รู้แค่บางส่วนเท่าที่อยากให้รู้พอ หลายคนทำไปเพราะสถานการณ์บังคับ คือพื้นฐานเป็นคนดีมีจรรยาบรรณ แต่จังหวะสำคัญนี้ก็ต้องขอซักหน่อย เพราะใครๆ ก็อยากได้งาน

คนแบบไหนที่ไม่น่าอยู่ในอำนาจได้นาน 

การไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้ามีอำนาจในมือ vs. การรักษาตำแหน่งหัวหน้าและอำนาจในมือ เป็น 2 สิ่งที่ดูเผินๆ เหมือนกัน แต่ถ้าดูลึกๆ จะพบว่าต่างกันสิ้นเชิง