รู้กันให้ชัดๆ…คุณเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้บริหาร” กันแน่?

หัวหน้าแบบคุณเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้บริหาร”? คำตอบสองข้อนี้ทำหัวหน้าหลายคนสับสนเพราะคิดว่าเป็นคำๆ เดียวกัน หรือเป็นเพียงแค่การเล่นคำเท่านั้นแต่ถ้าจะว่ากันลงลึกจริงๆ ผู้นำ vs. ผู้บริหาร ก็มีความแตกต่างกันอยู่นะ เราลองไปดูกัน…

#วิสัยทัศน์

 

ผู้นำที่แท้จริงจะพาองค์กรไปข้างหน้า มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนวัดผลได้ ภาวะ leadership สูงลิบ มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจในเรื่องยากๆ ท่ามกลางข้อมูลที่จำกัด และจะนำทัพองค์กรเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีการย้ายงานไปเป็นผู้นำที่อื่น

 

ขณะที่ผู้บริหารอาจแค่บริหารแบบมืออาชีพ อาจถูกซื้อตัวมา และทำงานตามกรอบที่ถูกกำหนดมาอีกทีนึง มีอำนาจสั่งการตามตำแหน่ง ถ้าองค์กรดูท่าไปไม่รอด ก็มีโอกาสแค่ย้ายงานไปบริหารองค์กรอื่น 

 

#ความรับผิดชอบ

 

ในบริบทความรับผิดชอบ ผู้นำจะออกตัว “รับผิด” แทนเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ไม่ได้เข้าข้างซะทีเดียว แต่จะคอยปกป้องลูกน้อง มี mindset ว่าถ้าผู้นำแบบเราให้ความปลอดภัยลูกทีมไม่ได้ แล้วใครจะอยากเดินตามเรา? แล้วใครจะอยากทำงานกับเรา? ขณะเดียวกัน จะคอยแชร์การ “รับชอบ” ให้เครดิตแก่ลูกทีมเมื่อสร้างประโยชน์ชื่อเสียงต่างๆ ให้องค์กร วิธีนี้ถึงจะซื้อใจลูกทีมไว้ด้วยอยู่หมัด

 

ขณะที่ผู้บริหาร มักยึดตามขอบเขตความรับผิดชอบของพนักงานแต่ละตำแหน่งที่ได้รับมากกว่า ถ้าใครมีหน้าที่หลักทำส่วนนั้นและเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็ต้องยืดอกแสดงควสใรับผิดชอบเองแบบตรงไปตรงมา แต่ถ้าเกิดทำผลงานสำเร็จ ก็สามารถยืดอกรับเครดิตความดีงามไปเต็มๆ ได้เช่นกัน

 

#เส้นทางการเติบโต

 

ผู้นำที่แท้จริงมักมาจากการเป็น Founder ผู้ก่อตั้ง จากการสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง มีสปิริตความเป็นผู้ประกอบการสูงลิบ ปั้นทุกอย่างขึ้นมากับมือเอง เป็นคนวงในมาตั้งแต่วันแรก และเพราะปั้นมากับมือจึงมีแนวโน้มอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวหรือไม่กี่อย่างมาโดยตลอด

 

ขณะที่ผู้บริหารมืออาชีพ อาจไต่เต้าจากการเป็นพนักงาน เป็นลูกจ้างประจำก่อน แต่มีทักษะบริหารเลิศจึงพัฒนามาเป็นผู้บริหารได้ ส่วนมากจะเริ่มจากเป็นคนนอกที่ค่อยๆ หลอมรวมเข้าเป็นคนใน และมีแนวโน้มที่จะเคยมีประสบการณ์ทำในหลายอุตสาหกรรมมากกว่าจากเส้นทางการเติบโตที่อาจกระโดดข้ามสายไปมา

 

#ทักษะเนื้องาน

 

ผู้นำจะเป็นการนำทีมไปข้างหน้าด้วยการครีเอตนวัตกรรมใหม่ๆ แม้ไม่ได้เรียนจบสูง แต่มีความเข้าใจเชิงลึกในอุตสาหกรรมนั้นๆ อาจเพราะปั้นธุรกิจมากับมือเองโดยตรง จึงรู้ดีเทลทุกแง่ทุกมุม ที่สำคัญ ผู้นำที่แท้จริงจะพร้อมปั้นผู้นำเจเนอเรชั่นหน้าให้ขึ้นมานำทัพองค์กรแทนตัวเอง เรียกว่าเต็มใจปั้นให้เก่งแซงหน้าตัวเองด้วยซ้ำ

 

ส่วนผู้บริหารมืออาชีพมักถูกวางกรอบการทำงาน มีเป้าที่ต้องทำให้ได้ในแต่ละปี เป็นการนำทีมในกรอบที่ถูกวางเอาไว้ ผู้บริหารจะมีทักษะบริหารคนและงานเป็นเลิศ ทำงานอย่างเป็นระบบ เน้นผลลัพธ์ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบทบาทปั้นทีมแต่มีความกังวลเช่นกันว่าอาจขึ้นมาแทนตำแหน่งตัวเองในอนาคต ในเคสนี้ จึงมีน้อยไม่ที่ผู้บริหารเก่งๆ ไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรได้ก็เพราะเหตุนี้

 

#การทำงานร่วมกัน

 

ผู้นำที่แท้จริงจะโฟกัสที่คน มีบทบาทในการสร้างแรงบันดาลใจ มองเห็นศักยภาพและให้โอกาส ทำหน้าที่โค้ชดูแลทั้งด้านการงานและจิตใจไปในตัว เป็นผู้นำที่คนพร้อมตามและมอบความไว้วางใจให้เต็มที่

 

ขณะที่ผู้บริหารมักโฟกัสที่การสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากไม่จำเป็นลง วิเคราะห์ภาพใหญ่ในระดับโครงสร้าง มีบทบาทในการสั่งการ แจกจ่ายงาน มอบหมายความรับผิดชอบให้สมาชิกทีม

 

#คาแรคเตอร์

 

ผู้นำมักมีคาแรคเตอร์และชุดความคิดที่แตกต่าง กล้าเปลี่ยนแปลง และพร้อมบุกเบิกอะไรใหม่ๆ หลอมรวมตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ถ้าใครนึกถึงองค์กรนี้ ต้องนึกถึงผู้นำคนนี้พ่วงมาด้วยเสมอ เป็นภาพจำตัวแทนองค์กรแบบแยกไม่ออก ที่น่าสนใจคือ ลูกน้องจะสัมผัสได้ถึง “บารมี” เป็นพลังงานบางอย่างที่อธิบายไม่ถูก แต่รู้สึกเคารพรัก ซาบซึ้ง ให้เกียรติ ให้อภัย

 

ขณะที่ผู้บริหารมืออาชีพมักมีชุดความคิดและสกิลบริหารที่อยู่ในกระแสหลักซะมากกว่า อาจเพราะจบจากสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนสอนธุรกิจขั้นนำที่ก็สอนคนอื่นเหมือนๆ กัน ผู้บริหารอาจไม่ได้เป็นตัวแทนภาพลักษณ์องค์กรขนาดนั้นเพราะทำงานอยู่เบื้องหลังได้ และแน่นอน แม้ว่าจะย่อมได้รับความเคารพนบนอบจากลูกทีมในองค์กรเช่นกัน แต่อาจเกิดจากตำแหน่งหรือที่ตัวผลงานมากกว่าเสน่ห์ตัวบุคคล

 

จะว่าไปแล้ว ก็คงไม่มีใครผิดใครถูกหรือมีใครเหนือไปกว่าใคร องค์กรก็ยังต้องการคนสำคัญทั้งคู่นี้ที่มีบทบาทหลักในการนำพาองค์กรไปข้างหน้า

 

แล้วคุณล่ะ…คิดว่าตัวเองเป็น ผู้นำ หรือ ผู้บริหาร กันแน่?

 

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ดูยังไงว่าคนสัมภาษณ์งานกำลังพูดไม่จริง

ผลวิจัยเผยว่า คนเรา “โกหก” ซึ่งๆ หน้าเวลาสัมภาษณ์งานมากกว่าที่คิด เพื่อปกปิดเรื่องที่ไม่อยากให้รู้ หรือให้รู้แค่บางส่วนเท่าที่อยากให้รู้พอ หลายคนทำไปเพราะสถานการณ์บังคับ คือพื้นฐานเป็นคนดีมีจรรยาบรรณ แต่จังหวะสำคัญนี้ก็ต้องขอซักหน่อย เพราะใครๆ ก็อยากได้งาน

คนแบบไหนที่ไม่น่าอยู่ในอำนาจได้นาน 

การไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้ามีอำนาจในมือ vs. การรักษาตำแหน่งหัวหน้าและอำนาจในมือ เป็น 2 สิ่งที่ดูเผินๆ เหมือนกัน แต่ถ้าดูลึกๆ จะพบว่าต่างกันสิ้นเชิง