การพัฒนาทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิด และต้องบอกก่อนว่าไม่มีใครที่สามารถสื่อสารเก่ง หรือพูดคุยกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เกิด ทุกอย่างล้วนเกิดจากการฝึกฝนและพัฒนาตนเองทั้งนั้น
ซึ่งในการทำงานไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม จะทำงานแบบ Onsite หรือ Work From Home ย่อมต้องใช้การสื่อสารทั้งนั้น โดยเฉพาะการทำงานรูปแบบ Work From Home ที่ทุกคนไม่ได้เจอหน้ากัน แต่เราจะสื่อสารให้เข้าใจกันได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นหากเราต้องการทำงานให้ได้ง่ายขึ้น ทำงานเป็นทีมได้ราบรื่นขึ้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเอง ให้สามารถสื่อสารให้ได้เข้าใจง่าย โน้มน้าวใจได้ และสามารถคุยกับคนที่แตกต่างกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจกัน
มาดูกันว่า เราจะสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารของตัวเองได้อย่างไรบ้าง
10 วิธี พัฒนาทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ฟัง ฟัง และฟัง
การฟังสำคัญมาก ก่อนที่เราจะสามารถสื่อสารมุมมองของตัวเองออกไปให้คนอื่นเข้าใจได้ เราควรที่จะฟังสิ่งที่คนอื่นสื่อสารมาเสียก่อน และค่อย ๆ คิดไตร่ตรองก่อนจะสื่อสารแนวทางความคิดของตัวเองออกไปให้สอดคล้องกับคนที่ฟัง และไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด
คำนึงถึงคนที่สื่อสารด้วย
เราไม่สามารถใช้ภาษากับทุกคนเหมือนกันได้ สมมติว่าคุยกับเจ้านาย ภาษาที่ใช้ก็ต้องเป็นอีกแบบ คุยกับเพื่อนก็เป็นอีกแบบ เพราะฉะนั้นเราควรศึกษาให้ดีว่าคนที่เราสื่อสารด้วยคือใคร และหาวิธีการสื่อสารให้เหมาะกับคน ๆ นั้นมากที่สุด
ใช้ภาษากายช่วยสื่อสาร
การขยับมือ การใช้ใบหน้าในการสื่อสารกับคนที่รับฟัง เป็นการช่วยให้การสื่อสารออกมาเข้าใจง่าย และราบรื่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยสื่อสารอารมณ์ของผู้สื่อสารได้ดีขึ้นอีกด้วย
ตรวจสอบข้อความก่อนสื่อสารออกไป
ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในรูปแบบการพูดต่อหน้า หรือแบบพิมพ์คุยกัน ทุก ๆ ครั้ง เราควรไตร่ตรองข้อความที่จะสื่อสารออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะสื่อสารแล้วจริง ๆ
สื่อสารกระชับ ได้ใจความ
ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์หรือพูด อย่าใช้การสื่อสารที่ยืดเยื้อมากจนเกินไป ให้หัดสื่อสารให้กระชับ สั้น และได้ใจความ เพื่อไม่ทำให้ผู้รับสารนั้นหลุดจากสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารจริง ๆ
เขียนสิ่งที่ต้องการสื่อสารลงกระดาษ
ก่อนที่จะทำการสื่อสาร หรือคุยกับใครสักคน วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้เราเตรียมตัวกับการสื่อสารได้ดีขึ้น คือการเขียนทุกอย่างลงกระดาษและจัดหัวข้อให้ชัดเจน เพื่อทำให้การสื่อสารออกมาเข้าใจง่าย และตรงประเด็น
สื่อสารผ่านการพูดคุยง่ายกว่าการพิมพ์
หากเรามีข้อความมากมายที่ต้องการสื่อสารกับคนสักคนหนึ่ง การเลือกที่จะโทรศัพท์หา หรือคุยกับแบบตัวต่อตัว ก็ง่ายกว่าการพิมพ์ และเป็นการเลี่ยงการเข้าใจผิดกันอีกด้วย
คิดก่อนพูด
สำคัญมากที่สุดคือการคิดทุกอย่างก่อนพูดออกไป เพื่อไม่ให้เกิดการใส่อารมณ์ หรือการไบแอส
เท่าเทียมกับทุกคน
เราควรมีความคิดที่เท่าเทียมให้กับทุกคน หากเราต้องเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างคนสองฝั่ง อย่าสื่อสารออกมาโดยการเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพียงให้ใช้เหตุผลของความเป็นกลาง และลดการไบแอสให้น้อยที่สุด
รักษาความคิดแง่บวกและยิ้มเข้าไว้
หากเราต้องเป็นคนสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ หรือโน้มน้าวใจคนอื่น อย่าลืมที่จะคิดและสื่อสารในสิ่งที่เป็นแง่บวก ส่งพลังบวกให้กับคนอื่น และยิ้มแย้มเข้าไว้
อ้างอิง: https://www.manpowergroup.com/en/insights/10-communication-skills