ที่มาสั้นๆ… Multipotentialite เป็นศัพท์ที่นักจิตวิทยาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เดิมเป็นคำที่ให้ความหมายด้านลบ สื่อถึงคนที่ทำอะไรหลายอย่างแต่ไม่เก่งจริงซักอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่โลกสมัยนั้นที่แต่ละคนเชี่ยวชาญอาชีพด้านใดด้านหนึ่งไปเลย (specialist)
เป็ดที่บินได้ในยุคนี้
แต่ความ ‘ครึ่งๆ-กลางๆ’ หลายด้านกลับเป็นข้อได้เปรียบในยุคนี้ ด้วยองค์ความรู้รอบด้านที่มีสะสมในตัว จึงมีแนวโน้มจะ “ปรับตัว” อยู่รอดได้ง่ายและเร็วกว่า จากวิกฤติโควิด-19 คือเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้แล้ว บริษัทที่ชำนาญแค่เรื่องเดียว พอเจอวิกฤติซัดกระหน่ำตรงๆ ก็หาทางอื่นไปไม่เป็นจนต้องปิดบริษัท
Multipotentialite ยังเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่โชว์ศักยภาพ “ความคิดสร้างสรรค์” ออกมาได้ดี เพราะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ หลายด้าน(ที่เหมือนไม่เกี่ยวข้อง)ให้ไปกันได้
ดังคำกล่าว “Connecting the dots” ของ Steve Jobs ที่ว่าคุณควรรอบรู้หลายด้าน ตอนแรกคุณอาจยังไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เรียนรู้ไปจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร แต่ถึงจุดหนึ่งที่คุณมีข้อมูลมากพอ (Dots) คุณจะสามารถเชื่อมโยงมันเข้าหากันได้และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่ๆ
Steve Jobs ยังกล่าวทิ้งท้ายเชิงเสียดายว่า…แต่น่าเศร้าที่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ไม่มี Dots มากพอ เพราะพวกเขาไม่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย (Typography หรือการจัดวางและออกแบบตัวอักษร คือศาสตร์ที่ Steve Jobs เคยเรียนเมื่อนานมาแล้ว ก่อนจะนำมาใช้กับ iPhone ในอีกหลายสิบปีต่อมา)
เรื่องนี้ยังฝึกให้เรามีมุมมองทัศนคติที่กว้างไกล เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส
กระดาษ Post-it ที่ออฟฟิศใช้กันทั่วโลก เดิมตั้งใจจะทำให้กาวยึดติดแน่น…แต่ล้มเหลว แต่ผู้ประดิษฐ์มองความล้มเหลวนี้และเชื่อมโยงไปสู่ “ความยืดหยุ่น” ในการย้ายที่แปะไปเรื่อยๆ (แทนที่จะยึดติดที่เดียว) กลับกลายเป็นตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากกว่า และใช้กันมาถึงทุกวันนี้
รู้แบบเป็ด x คนธรรมดา
เราลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ ได้จาก ‘คนธรรมดา’ คนหนึ่งยุคนี้ที่รู้แบบเป็ด ซึ่งอาจสร้างช่องทางรายได้และชื่อเสียงได้อย่างน่าสนใจ
- เขาอาจมีอาชีพหลักเป็น Online Marketer ที่บริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่ง
- แต่เวลาว่างเขาทำ Facebook Page สายของกินที่มีผู้ติดตามหลายหมื่นคน มีแบรนด์มาลงโฆษณาเดือนละ 1 ครั้ง
- พร้อมๆ กับรับจ้างถ่ายภาพอาหารลงนิตยสารเดือนละ 2 ครั้ง
- ไปเข้าตาสำนักพิมพ์จนต้องร้องขอให้รวมเล่มเป็นหนังสือ (แม้ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ)
- เปิดบูธขายของกินตามงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ ปีละ 2 ครั้ง (ทำได้แค่นี้แหล่ะ ไม่รู้ระบบแฟรนไชส์)
- ศึกษาและออมในหุ้นทุกเดือนอย่างมีวินัย ได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี (ไม่ได้รู้ลึกเรื่องหุ้นอะไร ขอแค่ 5%/ปี พอ)
อย่างละนิด-อย่างละหน่อย แต่นานวันเข้าความรู้แบบเป็ดก็สร้างรายได้ ชื่อเสียง ผลงาน ประสบการณ์ และ Connection ให้คนธรรมดาได้ไม่น้อย คนธรรมดาก็สามารถเป็น Multipotentialite ได้
รู้แบบเป็ด x ชีววิทยา
ชีววิทยาก็มาผนวกกับการทำงานในชีวิตประจำวันเราได้เช่นกัน
เมื่อต้องปั่นงานดึกๆ จนเครียด คุณรู้สึกหิวอยากกินอะไรหวานๆ ขึ้นมา แต่คุณรู้ดีว่านี่อาการ ‘หิวหลอก’ เกิดจากความเครียด ซึ่งกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเคมีบางอย่างเพื่อให้กิน ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ได้เสียพลังงานเลย (แต่คุณไม่รู้หรอกว่าสารเคมีชื่ออะไร ทำหน้าที่อื่นอะไรอีกบ้าง)
เมื่อคุณรู้ก็ยับยั้งใจตัวเองได้ จึงเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนที่น้ำอัดลม แค่นี้ก็สามารถรักษารูปร่างร่างกายให้ดีอยู่ได้ควบคู่ไปกับการทำงานจนสำเร็จลุล่วง
รู้แบบเป็ด x บูรณาการความรู้
ความรู้แบบเป็ดยังต่อยอดไปสู่การบูรณาการความรู้ได้
100 กว่าปีที่แล้ว U.S. Steel Corporation คือบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกซึ่งทำธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และเป็นเชื้อเพลิงในการสร้างตึกระฟ้าที่เริ่มขึ้นในชิคาโก ก่อนจะไปนิวยอร์ค และกระจายสู่ทุกเมืองใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา
หากสังเกตดีๆ บริษัทใหญ่สมัยก่อนมักทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมหนักไม่ว่าจะน้ำมัน ถ่านหิน เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยานต์ ฯลฯ
แต่ปัจจุบัน Apple คือบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ราว 68 ล้านล้านบาท…ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้ในปี 2020 Top10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก…กว่าครึ่งหนึ่งก็เป็นบริษัทเทคโนโลยีเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุเพียง 20-30 ปีเท่านั้นเอง
เราพอจะเห็นแล้วว่า “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี” น่าจะเป็นอนาคตจากนี้
รู้แบบเป็ด x ประวัติศาสตร์
ความรู้ด้านเศรษฐกิจก็มาผนวกกับประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน
สิ่งที่ฟังดูเหลือเชื่อสำหรับใครหลายคนคือ จีนเป็นประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องนาน ‘หลายร้อยปี’ (แต่คุณไม่รู้เหตุผลลึกๆ ว่าเพราะอะไร) จนพึ่งมาเสียแชมป์ให้ประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาในปี 1890 และเป็นเบอร์ 1 มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายฝ่ายว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาในปี 2028 ที่จะถึง
เมื่อเรารู้ความเป็นมาแล้ว จะเข้าใจว่าการที่จีนแซงหน้าอเมริกาไม่ใช่การ “โค่น” บัลลังค์ แต่เป็นการ “ทวงคืน” บัลลังค์กลับมาต่างหาก ซึ่งจาก ประวัติศาสตร์-จำนวนประชากร-ขนาดพื้นที่ประเทศ-และปัจจัยอื่นๆ จีนน่าจะดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ไปอีกนาน
ซึ่งสะท้อนสู่ทิศทางการดำเนินธุรกิจได้ไม่แพ้กัน เราอาจเปลี่ยนนโยบายหรือปรับทัศนคติให้ความร่วมมือกับจีน-ผูกมิตรกับจีนมากขึ้น
เรามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติ GDP ของจีนไปแล้ว ก็อาจสงสัยและเชื่อมโยงไปเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาว่า ตัวเลข GDP ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ คุณเลยเริ่มค้นหาตัวเลข “รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว” ของประเทศต่างๆ ใน Google เพื่อ ‘เปรียบเทียบ’ ก่อนจะพบว่า
GDP ของจีนอาจใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อหารออกมาเป็น “รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว” แล้ว จีนอาจต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าจะขึ้นสู่ประเทศร่ำรวยอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนอยู่ที่ราว 308,000 บาท/ปี แต่การจะถูกจัดให้อยู่ในประเทศร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวต้องมากกว่า 374,000 บาท/ปี
ขณะที่ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวอเมริกัน ณ ปี 2019 อยู่ที่ราว 2,090,000 บาท/ปี มากกว่าจีนเกือบ 7 เท่า
แต่ของชาวอเมริกันก็ยังน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวสวิส ซึ่งอยู่ที่ราว 2,690,000 บาท/ปี
เมื่อมองย้อนกลับมา รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ณ ปี 2019 อยู่ที่ราว 195,000 บาท/ปี จากข้อมูลที่หามาบอกคุณว่า ตัวเลขนี้พึ่งจะใกล้เคียงกับของชาวสวิสเมื่อปี 1851 (หลังปรับค่าเงิน) หรือเมื่อ 168 ปีที่แล้ว..
ทำไมถึงต่างกันขนาดนี้ ?
คุณสังเกตว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดล้วนเป็นชาติอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง แม้สวิตเซอร์แลนด์จะเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศน้อย และไม่มีพรมแดนติดทะเล…แต่กลับมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่และเทคโนโลยีเป็นของตัวเองมากมาย
ไทยตอนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ “รายได้ปานกลางระดับสูง” เศรษฐกิจประเทศเราพัฒนามาถึงจุดนี้ได้ด้วยการรับจ้างผลิตให้กับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ เช่น บริษัทรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่เราติดกับดักนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว การจะข้ามขั้นสู่ประเทศร่ำรวยจึงต้องใช้โมเดลอื่น
แล้วทำยังไงเราถึงจะไปจุดนั้นได้ ?
นี่คือความสนุกอย่างหนึ่งของการเป็นเป็ด Multipotentialite
จากจุดเริ่มต้นที่ประวัติศาสตร์ GDP ของจีนแบบคร่าวๆ นำไปสู่การขบคิดว่าเมืองไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างไร?
จากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่เล็กๆ เราเชื่อมโยงสู่ความรู้แขนงอื่น เกิดการ “บูรณาการหลายศาสตร์” เข้าด้วยกัน จนตกผลึกทางความคิดบางอย่าง เกิดการตั้งคำถามที่ดีที่นำไปสู่คำตอบที่ดี วนไปแบบนี้เรื่อยๆ ท้ายที่สุดเราอาจพบ Solution ใหม่ๆ (แม้จะไม่ได้เป็น Specialist ด้านใดเลยก็ตาม!)
.
.
มาถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่า Multipotentialite หรือการรู้แบบเป็ด มีความสำคัญมากแค่ไหน แม้รู้ทีละนิด-ทีละหน่อย แต่ถ้านำมาปะติดปะต่อ และ ‘อ่าน’ ออก มองเห็นถึงความสัมพันธ์ของเรื่องต่างๆ ในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น…เมื่อนั้นเราก็อาจนำหน้าคนอื่นไปไกลแล้ว
อยากรู้ว่าตัวเองมีความเป็น Multipotentialite มากน้อยแค่ไหน?
ลองไปทำ “แบบประเมินอาชีพ” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จาก CareerVisa เพื่อค้นหาความถนัด ‘หลายด้าน’ ที่คุณมี และทำ ‘หลายอย่าง’ อย่างมีความสุขกันเถอะ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
อ้างอิง
- หนังสือ เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี โดย ลงทุนแมน
- https://data.worldbank.org
- https://www.mckinsey.com
- https://www.forbes.com
- https://puttylike.com
- https://sergiocaredda.eu
- https://happentoyourcareer.com/176-multipotentialites
- https://careerpivot.com/2015/are-you-a-multipotentialite/
- https://thematter.co/brief
- https://www.forbes.com/sites/jeffkauflin