German Work Style ทำงานน้อยแต่ได้มาก! 

German Work Style
German Work Style คือการทำงานที่เน้นความตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัย โฟกัสที่ประสิทธิภาพ และแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจน
  • คนเยอรมันทำงานเฉลี่ยเพียง 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือ 7 ชม./วัน
  • แต่มี GDP ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกที่ราว 115 ล้านล้านบาท

สารคดี BBC ของอังกฤษยังเคยทำหัวข้อเรื่อง “Make Me a German” ที่เผยถึงคุณลักษณะเด่นของคนชาตินี้ 

และจะว่าไป เมื่อเรามองไปยังธุรกิจ เราจะเห็นบริษัทสัญชาติเยอรมันที่ยิ่งใหญ่เยอะแยะมากมายครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม ทั้งวิศวกรรมยานยนต์ / ยาเวชภัณฑ์ / ซอฟต์แวร์ / โทรคมนาคม / กีฬา

น่าสนใจไม่น้อยว่าเบื้องหลังคนเยอรมันนั้น…พวกเขามีวิธีทำงานกันอย่างไร?

จุดแข็งการทำงานแบบ German Work Style ?

1. เวลางานคือทำงาน !

ถ้าทำงานเฉลี่ย 7 ชม./วัน จาก 08:00-16:00 น. (รวมพัก 1 ชม.)

เวลาเริ่มงานตอนเช้าคือเริ่มทำงานจริงๆ ไม่ใช่รอทุกคนมาถึงแล้วเดินออกไปเป็นกลุ่มซื้อกาแฟแถวออฟฟิศ 

เวลางานพนักงานทุกคนถูกคาดหวังให้โฟกัสที่ “งาน” จริงๆ: หลายบริษัทมีนโยบายห้ามเล่น Facebook ในเวลางาน / ห้ามยืนคุยเล่นหน้าตู้กดน้ำ 20 นาที…วัฒนธรรมทำงานแบบนี้ช่วยให้พนักงาน “โฟกัส” ได้ดี พลังของการโฟกัสนี้เอง ที่อาจเป็นเชื้อเพลิงของการ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

คนเยอรมันโดยพื้นฐานจะแบ่ง “Emotional Boundary” อาณาเขตทางอารมณ์ได้เก่งมากๆ พักเที่ยงเมื่อกี้อาจคุยเล่นกันโหวกเหวกสนุกสนาน แต่พอเดินกลับออฟฟิศได้เวลาทำงาน จะปรับตัวเองไปอีก “โหมด” นึงทันที จริงจังซีเรียส เอาการเอางาน

ความสนุกสนานคุยเล่นเมื่อกี้จบลงไปแล้ว จากนี้คือเวลาทำงาน ถ้าคุณทำผิดพลาดตรงไหนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน..

นอกจากนี้ คนเยอรมันไม่ทำ OT กัน เลิกงานคือกลับบ้าน เป็นอีกสาเหตุที่ว่าทำไมต้องรีบทำงานให้เสร็จในเวลางาน เพราะวัฒนธรรมคนเยอรมันให้ความสำคัญกับครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง เลิกงานก็กลับบ้านไปเจอหน้าครอบครัว(ขณะที่คนญี่ปุ่นมักไปดื่มสังสรรค์กันต่อ) ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมักถูกจำกัดแค่เรื่องงานเท่านั้น

รัฐบาลเยอรมันมีแผนที่จะออกกฎหมาย “ห้ามบริษัทส่ง Email ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานหลัง 6 โมงเย็น” บริษัทใดที่ทำจะมีความผิดตามกฎหมาย และพนักงานคนนั้นจะได้รับการปกป้อง เพื่อแบ่งแยกชีวิตส่วนตัว-การทำงานอย่างชัดเจน งานคือทำงานซีเรียสจริงๆ เล่นคือเล่นเต็มที่

2. ตรงไปตรงมา

ไม่เวิ่นเว้อ ขอแต่เนื้อๆ ไม่เอามัน ใครทำผิดตรงไหนก็แค่เอ่ยพูดขึ้นมา อยากปรึกษาหัวหน้าถึงความไม่สมเหตุสมผลของกระบวนการทำงานก็แค่เรียกนัดคุย

คนเยอรมันจะชอบแสดงความคิดเห็น แม้ว่าสิ่งที่พูดนั้นจะขัดแย้งหรือไม่อยู่ในกระแสหลักของคนอื่น และมักเป็นการพูดที่เสริมด้วยข้อมูล “ตัวเลข” เพื่อความน่าเชื่อถือ

ที่น่าสนใจคือ คนเยอรมันพูดกันตรงๆ แต่ “ไม่เก็บมา emotional” เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของคนในชาตินี้เลยก็ว่าได้

คนชาติอื่นอาจพูดว่า “จะดีมากเลยถ้าคุณส่งให้ผมได้ภายในบ่าย 3 โมงวันนี้ ขอบคุณมากเลย”

แต่คนเยอรมันจะพูดว่า “นี่เป็นงานด่วน ส่งให้ผมภายในบ่าย 3 โมงวันนี้”

ซึ่งคนเยอรมันจะพูดจาลักษณะนี้กับทุกเรื่องการทำงานเป็นปกติ มันอาจฟังดูแข็งทื่อไปบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าเวิร์คกับการบรรลุผลการทำงานไม่น้อย

ความตรงไปตรงมานี้เอง นำไปสู่ “ประสิทธิภาพ” การทำงาน เพราะสื่อสารตรงจุดเข้าใจทุกฝ่าย มีปัญหาก็พูดขึ้นมา รีบแก้ทันทีไม่เก็บไว้จนบานปลาย

3. ความเป็นระบบ

“คนเยอรมัน x ประสิทธิภาพ” แทบจะเป็นภาพจำของคู่กันไปแล้วในสายตาคนทั่วโลก

คนเยอรมันมองว่า ระบบที่ดีนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี (โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม) แม้คนที่ไม่ได้เก่งเป็นทุนเดิม แต่มาอยู่ภายใต้ระบบที่ดี…ก็เก่งขึ้นได้

อย่างในการประชุม จะต้องนัดล่วงหน้า / ตั้ง Agenda / ระยะเวลากี่นาที-ชั่วโมง / ใครเข้าร่วมบ้าง นำเสนออะไรบ้าง / จบประชุมต้องทำอะไรต่อ ทั้งหมดนี้เป็น “มาตรฐาน” ในการทำงานของคนเยอรมันไปแล้ว

ความเป็นระบบ นำไปสู่การมีวินัยไปในตัว เรารู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ระบบบอกว่าคุณต้องเข้าประชุมกี่โมง เตรียมนำเสนออะไรบ้าง ประชุมเสร็จทำอะไรต่อ

4. ทีมสปิริต

German Work Style

แก่นของเรื่องนี้ต้องท้าวความไปถึงยุคสมัยก่อนช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ชาวเยอรมันบอบช้ำมามากพอแล้ว ถึงเวลา(จำเป็น)ต้องร่วมมือกัน 

ผู้นำประเทศยุคนั้นส่งเสริมความเป็นชาตินิยม มีทัศนคติว่าประชาชนทุกคนไม่ได้เป็นแค่ปัจเจกชน แต่ล้วนเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ในการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ ต้องคิดถึงส่วนรวมต้องแคร์ผู้อื่น เกิดจริตของการให้ความร่วมมือทำงานเป็นทีมกันอย่างกว้างขวางของชาวเยอรมัน

ทัศนคติที่ระลึกอยู่เสมอถึง “ส่วนรวม” จะเชื่อมโยงไปประเด็นอื่นๆ ในการทำงาน

เช่น การที่คุณมาสาย 5 นาที…มันไม่ได้กระทบแค่ตัวคุณ แต่กระทบเวลาเพื่อนร่วมทีมคนอื่นด้วย ถ้ามี 10 คน เวลาที่เสียไปก็คือ 50 นาที…สุดท้ายเพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนอื่น จะหล่อหลอมให้เยอรมันเป็นคน “ก่อนเวลา” คือมาก่อนเวลานัดหมาย 10-15 นาทีเป็นอย่างน้อย

ถ้าคุณอู้งาน งานนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่อาจไปกองเพิ่มงานให้เพื่อนร่วมทีมคนอื่นแทน ดังนั้น เป็นความรับผิดชอบของคุณที่ต้องเอาใจใส่ในงานตัวเอง

หรือการตัดสินใจใหญ่ๆ เชิงกลยุทธ์จะทำกันเป็นทีม เพื่อให้เป้าหมายสอดคล้องกับแต่ละคนและเป็นไปได้จริง (Realistic) 

ตัวอย่างบริษัท “German Work Style” ที่สำเร็จ 

Siemens บริษัทด้านวิศวกรรมไฟฟ้าชั้นนำของโลก มีมูลค่าบริษัทกว่า 3 ล้านล้านบาท ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า / เครื่องใช้ไฟฟ้า / ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้า / เทคโนโลยีกังหันลม 

การทำงานที่ Siemens ถูกรันด้วย “ระบบ” ขั้นตอนที่ออกแบบมาอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกอย่างมีระเบียบแบบแผนที่วางไว้แล้ว 

พนักงาน Siemens ถูกฝึกให้โต้แย้งด้วยตรรกะและข้อมูลเชิงลึก การเห็นต่างไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ทำให้คุณเป็น ‘คนแปลกแยก’ แต่อย่างใด และถูกสอนให้ Respect เคารพความคิดเห็นคนอื่น ไม่ดูถูก ‘ความไม่รู้’ ของคนอื่น เพราะเราเองก็มีเรื่องที่ไม่รู้เช่นกัน

คนทำงานใน Siemens เปรียบเปรยว่า บริษัทเปรียบเสมือนถนน Autobahn ที่ผิวจราจรเรียบกริบ เส้นจราจรชัดแจ๋ว ป้ายบอกทางครบ พร้อมแบริเออร์ข้างทางป้องกันอุบัติเหตุ เมื่อรากฐานบริษัทแข็งแรง…ก็ทำความเร็วได้ไม่จำกัด (ถนน Autobahn ไม่มี Speed Limit)

และจากโควิด-19 ปีที่แล้ว บริษัทยังได้ออกนโยบาย “ทำงานที่ไหนก็ได้” 2-3 วัน/สัปดาห์ ให้กับพนักงานทั่วโลกกว่า 140,000 คน 

บริษัท Daimler ออกนโยบาย “Mail on Holiday” ปกป้องความเป็นส่วนตัวของพนักงานกว่า 100,000 คนของบริษัทในวันลาพักร้อน โดยอีเมลที่ถูกส่งมาหาพนักงานกลุ่มนี้ช่วงลาพักร้อน จะถูก “ลบอัตโนมัติ” หรือถูกโยนไว้ในกล่องข้อความที่ยังไม่ได้อ่าน 

พนักงานให้ความเห็นว่า เป็นการแบ่ง Work-Life Balance ที่ดีมาก การพักร้อนเป็นการพักร้อนจริงๆ หยุดชาร์จพลังให้ตัวเอง ก่อนกลับมาทำงานใหม่ด้วยไฟที่ร้อนแรงกว่าเดิม (บริษัทเยอรมันซีเรียสเรื่องชีวิตส่วนตัวจริงๆ)

Allianz บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี วางรากฐานแนวคิดแบบ “Inclusive Meritocracy” คือถ้าคุณมีสามารถจริง คุณสามารถโตในบริษัทนี้ได้ฉลุย คนเก่งถูกโปรโมทโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ สอดคล้องกับกระแสโลกที่โอบรับเรื่องนี้เป็นอย่างดี 

และใช้ข้อดีในแบบเยอรมัน โดยส่งเสริมให้พนักงานทำ “การวิจารณ์ที่สร้างสรรค์” (Constructive Criticism) ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงานที่ดีขึ้นได้

Mercedes-Benz อีกหนึ่งบริษัทรถยนต์ที่ขึ้นชื่อในความ Conservative ผ่านประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ ปฏิเสธชุดความคิดแบบ “เสือนอนกิน” ที่สั่งสมมานาน แต่พนักงานจะถูกปรับทัศนคติว่า การทำงานที่นี่ “ไม่มีวันธรรมดา” (Ordinary Day) เพราะทุกวันสามารถเป็นวันพิเศษได้…ถ้าเราอยากให้มันเป็น

และช่วงปีหลังๆ ได้โอบกอดความเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ทำใหม่ เช่น การออกแบบออฟฟิศที่ลดกำแพงลง เพิ่มทัศนวิสัยน์ / รถยนต์ที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยววัยรุ่นขึ้น / การกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า / ราคาและบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ลูกค้าวัยเยาว์มากขึ้น

German Work Style

Adidas แบรนด์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ยึดหลัก “3Cs” ได้แก่ 

  • Confidence: ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัด พนักงานต้องรู้จักมั่นใจในตัวเอง กล้าลองผิดลองถูก ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ล้มไปข้างหน้า
  • Collaboration: จะไปได้ไกลต้องไปเป็นทีม เชื่อใจซึ่งกันและกัน คุยกันแบบเปิดอกตรงไปตรงมา มีอะไรอย่าเก็บไว้คนเดียว
  • Creativity: เปิดรับมุมมองใหม่ ใจกว้าง อย่าด่วนตัดสิน เมื่อนั้นไอเดียความคิดสร้างสรรค์จะเกิด 

ประยุกต์ใช้ “German Work Style” ยังไงได้บ้าง?

อันดับแรกต้องเลิกขี้เกรงใจ ว่าคำพูดของเราจะไปทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่าย หลายครั้งการเสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องจำเป็นในการทำงาน 

เราจะเห็นเลยว่าแทบทุกบริษัทเยอรมันมีคาแรคเตอร์หนึ่งที่เหมือนกันคือ ความ “ตรงไปตรงมา” ไม่มีลับหลัง ไม่มีคุยนอกรอบ

เทคนิคคือ ให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจตรงกันก่อนว่า การที่คุณโต้เถียงอีกฝ่ายนั้นเป็นการโต้เถียงที่ “ความคิด” ไอเดียของเค้า…ไม่ใช่ “ตัวตน” ของเค้า วิธีนี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นความเป็นจริงในมุมมองมิติอื่น และลดโอกาสพูดจาปกป้องตัวเองได้

German Work Style

คนเยอรมันอาจดูแข็งกร้าวไปบ้างในสายตาคนไทย แต่ถ้าสังเกตให้ดี พวกเขาเปิดรับและ Respect เคารพความเห็นต่างอันหลากหลายของผู้อื่น ยินดีทำตามแบบแผนของเราถ้ามีเหตุผลที่ดีพอ…ซึ่งมีประเด็นด้านสังคมให้ดูเป็นตัวอย่างได้เช่นกัน ในรอบหลายปีมานี้ เยอรมันเป็นหนึ่งในประเทศที่รับผู้อพยพ (Refugee) มากที่สุดในยุโรป

บ่อยแค่ไหนที่เราเอาเวลางานมาคุยเม้าท์มอยเรื่องคนโน้นคนนี้ เวลาทีละนิดทีละหน่อย แต่รวมๆ ทั้งวันก็อาจคิดเป็น 1 ชั่วโมงที่เสียไป อันที่จริงเรื่องนี้ก็มีข้อดีในแง่ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้ามากเกินสมดุลไปก็ไม่เป็นผลดีกับบริษัทแน่นอน

คนเยอรมันเน้นผลงาน ความเป็นมืออาชีพ ผ่านการใช้เหตุผลที่มีข้อมูลแน่นปึ้กและตัวเลขสนับสนุน น่าจะเป็นตัวอย่างให้เราทำตามได้เวลาใช้โน้มน้าว

ความตรงต่อเวลาเป็นอีกเรื่องที่คนไทยอยู่ขั้วตรงข้าม ทั้งยังไม่สอดคล้องกับโลกการทำงานสากล เทคนิคคือให้คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้มา “ก่อนเวลา” (ไม่ใช่ตรงเวลา)

เริ่มง่ายๆ จากเวลาเข้าประชุม เช่น 10:00 แทนที่จะกำหนดว่าให้มาถึง 10:00 ก็ให้เผื่อ 15 นาทีไว้เลยเป็นมาถึง 9:45 สมมติถ้าผิดแผน ยังไงเราก็อาจมาถึง 9:58 ถือว่าไม่สายอยู่ดี

การทำงานกับคนชาติอื่น (เช่น ญี่ปุ่น) ถ้าคุณมาสาย 5 นาที คุณอาจพลาดดีลธุรกิจนั้นไปเลย หรือไม่ได้รับความไว้วางใจอีกเลย เพราะเค้าจะมองว่าแค่ตรงเวลาแค่นี้ยังทำไม่ได้ ต่อไปจะไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องสำคัญได้อย่างไร

น่าคิดไม่น้อยว่า ถ้าเราประยุกต์จุดแข็งการทำงานสไตล์เยอรมันมาใช้กับของเรา ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร? เราเองที่คงต้องลอง..

.

.

แต่ก่อนอื่น ให้ไปลองทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ไม่แน่นะคุณอาจเหมาะกับบริษัทที่มีสไตล์การทำงานแบบเยอรมันก็ได้! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน