กว้านซื้อแบรนด์เนม ปรนเปรอความสุข…แต่ทำไมยัง “ทุกข์” เหมือนเดิม ?

แบรนด์เนม
เคยไหม? ทำงานหนักแทบตาย ได้เงินมาก็เอาไปกว้านซื้อของหรูหราเป็นรางวัลให้ตัวเอง ภูมิใจได้อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ 2-3 เดือนต่อมา ก็เริ่มที่จะ “เฉยๆ” กับมัน บางคนรู้สึกถึงขั้น “ว่างเปล่า” ทั้งๆ ที่มีของหรูมากขึ้น พร้อมๆ กับความสุขที่ลดน้อยลง

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ทำไมของหรูหรามอบความสุขระยะยาวให้เราไม่ได้?

การเปรียบเทียบไม่สิ้นสุด

คุณ Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมชื่อดังของโลกเผยว่า มีกลไกด้านจิตวิทยาหลายอย่างอยู่เบื้องหลังความไม่เป็นสุขนี้

สิ่งที่มนุษย์ทำอยู่ตลอดเวลาคือ “Relativity” หรือ การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ เรื่อง…โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ ‘สูงกว่า’ ทางด้านฐานะ

เมื่อคุณเป็นเศรษฐี คุณไม่ได้เทียบตัวเองกับพนักงานออฟฟิศอีกต่อไป

เมื่อคุณเป็นเศรษฐีร้อยล้าน คุณเทียบกับเศรษฐีพันล้าน…และอยากไปให้ถึง

เมื่อคุณเป็นเศรษฐีพันล้าน คุณเทียบกับมหาเศรษฐีหมื่นล้าน…และอยากไปถึงให้

เมื่อคุณเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน คุณเทียบกับอภิมหาเศรษฐีแสนล้าน…และอยากไปให้ถึง

เมื่อคุณขับ Toyota คุณอยากอัพเกรดไปขับ Benz

เมื่อคุณขับ Benz คุณอยากอัพเกรดไปขับ Porsche

เมื่อคุณขับ Porsche คุณอยากอัพเกรดไปขับ Ferrari

เมื่อคุณขับ Ferrari คุณบอกตัวเองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มมองหาเรือยอร์ช เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว…และยานอวกาศไปดาวพลูโต

การเปรียบเทียบและความต้องการ…ไม่มีที่สิ้นสุด 

ความทะเยอทะยานที่ติดจนเป็นนิสัยนำไปสู่ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “Hedonic Treadmill” เราวิ่งไล่ตามหาวัตถุมาครอบครอง แต่วัตถุนั้นไม่เคยทำให้เราสุขสมหวังได้อย่างแท้จริง เราจึงออกวิ่งใหม่ ด้วยความหวังใหม่…เพื่อที่จะวนลูปเดิม

จนไปถึงขั้นรุนแรงในบางคนที่เรียกว่าอาการ ”Imposter Syndrome” การที่เรารู้สึกว่าคนอื่น ดีกว่าเรา-เก่งกว่าเรา-เหนือกว่าเรา อยู่เสมอ ทำให้รู้สึกต่ำต้อย เครียด รู้สึกถึงความ ‘ขาดแคลน’ อยู่ตลอด จึงเป็นแรงผลักดัน(แง่ลบ) ที่ต้องขวนขวายของที่ดีกว่าเดิม-แพงกว่าเดิม-หรูกว่าเดิมอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ผลวิจัยจาก Boston College เผยว่า 2/3 ของถูกผู้สำรวจกว่า 1,000 คน (ครอบคลุมทุกเพศ-ทุกวัย-ทุกฐานะ) เปิดเผยว่า ท้ายที่สุด การซื้อของหรูกลับทำให้พวกเขารู้สึก “ไม่เป็นตัวของตัวเอง” (Inauthentic) 

เหมือนหลงทาง เหมือนถูกภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้นครอบงำ เหมือนเค้าไม่ได้ใช้แบรนด์…แต่กลับ “ถูกแบรนด์ใช้” ต่างหาก เช่น เวลาถือกระเป๋า Hermès กลับเดินถือแบบ ‘ลูกคุณหนู’ โดยไม่รู้ตัว (ขณะที่บุคลิกภาพเธอจริงๆ อาจเป็นแบบ ‘เดินตัวปลิว’ สบายๆ)

จิตวิทยาเกี่ยวข้องกับสมอง คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วทำไมสมองมนุษย์เราถึงคิด-รู้สึกไปแบบนี้ การจะหาคำตอบในปัจจุบันได้ เราต้องย้อนไปดูอดีตในสภาพแวดล้อมที่คนเราวิวัฒนาการมา

มนุษย์วิวัฒนาการมาอย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่าโดยธรรมชาติ “มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้มีความสุข” เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยกระบวนการ “คัดเลือกทางธรรมชาติ” (Natural Selection) 

มนุษย์วิวัฒนาการมาจากทุ่งหญ้าสะวันนา สมัยก่อนเราไม่ได้กินอิ่มครบ 3 มื้อ อาหารไม่ได้หาง่าย ต้องออกไปล่าสัตว์หาของป่ากันเป็นกลุ่ม ต้องวางแผน ต้องทุ่มหมดตัวในการล่าแต่ละครั้ง และยังต้องระวังภัยอันตรายจากการถูกสิงโตล่า(มนุษย์ยังไม่ได้อยู่ ‘จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร’) และไหนจะภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

ชีวิตในแต่ละวันของบรรพบุรุษเราไม่ได้สวยงามขนาดนั้น

คนที่โลกสวย ชิลๆ ไม่เครียด…‘พึงพอใจง่าย’

  • มื้อนี้ล่าไม่สำเร็จ…ก็ไม่เป็นไรไว้รอบหน้า 
  • ฝนตกฟ้าผ่าจนเสบียงอาหารเสียหายหมด…ก็ไม่เป็นไรค่อยหาใหม่

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายของโลกยุคก่อน คนกลุ่มนี้มักมีโอกาสรอดชีวิตน้อยกว่า โอกาสตายมากกว่า และเมื่อเขาตาย พันธุกรรมในตัวก็ตายตามไปด้วย

ในทางกลับกัน คนที่มองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน เครียด…’พึงพอใจยาก’

  • มื้อนี้ล่าอาหารได้…แต่มื้อหน้าอาจล่าไม่ได้! (แบ่งเก็บไว้กินมื้อหน้า)
  • มีถิ่นฐานแล้ว แต่สิงโตอาจซุ่มโจมตีตอนเราเผลอ…ต้องเพิ่มเวรตรวจตรามากกว่านี้! (ปลอดภัยไว้ก่อน)

นานวันเข้า คนกลุ่มนี้มักมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่า โอกาสตายน้อยกว่า และเมื่อเขามีชีวิตรอดต่อไป ก็สืบพันธุ์และส่งต่อพันธุกรรมในตัวไปด้วย

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แล้วว่า คนที่มีนิสัยเครียดง่าย มองโลกแง่ร้ายไว้ก่อน ไม่พอใจในสิ่งที่มี…เป็นผลมาจาก “พันธุกรรม” ในตัวไม่น้อย (ตัวแปรอื่นก็มีส่วน แต่พันธุกรรมสำคัญอันดับต้นๆ)

และพันธุกรรม “ถ่ายทอด” สู่ลูกหลานได้ เมื่อพ่อแม่มีนิสัยเครียด ลูกก็มีแนวโน้มเครียด หลานเหลนโหลนก็มีแนวโน้มเครียดตาม

เมื่อกาลเวลาผ่านไปนับแสนปี การคัดเลือกทางธรรมชาติได้ทำงานของมัน อาจกล่าวได้ว่า “เราคือลูกหลานของบรรพบุรุษสุดเครียด” (ที่ไม่พอใจอะไรง่ายๆ) นั่นเอง 

อิทธิพลของสังคม

เมื่อธรรมชาติของมนุษย์พึงพอใจยาก มาเจอกับค่านิยมของสังคมบริโภคทุนนิยมปัจจุบัน ยิ่งทำให้เราไขว้เขว 

คุณอาจกำลัง “ตกเป็นเหยื่อการตลาด” ทางความคิด(จากนักการตลาด) คุณไม่ได้ต้องการวัตถุหรูหรามายกระดับบารมีตัวเองหรอก ความจริงคุณอาจยอดเยี่ยมสมบูรณ์อยู่แล้วก็เป็นได้ เป็นคลื่นชี้นำความคิดทางสังคมที่ทำให้คุณรู้สึกโลภ ต้องทะเยอทะยานไปต่อ หรือรู้สึกบกพร่องบางอย่าง

  • ถ้าคุณประสบความสำเร็จจริง คุณต้องไม่ขับ Benz นะแต่ขับ Porsche (แต่ลึกๆ รสนิยมคุณอาจชอบ Benz มากกว่า)
  • Rolex เป็นของชนชั้นกลางนะ แต่ระดับคุณต้อง Patek Philippe เท่านั้น (แต่ลึกๆ คุณอาจชอบดีไซน์ Rolex หรือแค่พอใจกับ Seiko มากกว่า)
  • Beer เป็นของถูกนะ อย่างคุณต้องดื่ม Wine เท่านั้น (แต่ลึกๆ Beer อาจถูกปากคุณมากกว่า)

…ความไม่ลงรอยกันของ “สิ่งที่คุณชอบ และ สิ่งที่คุณถูกคาดหวังให้ชอบ” ก็สร้างความทุกข์ให้เราในที่สุด

โจทย์ที่ตั้งผิดตั้งแต่เริ่มต้น

หากมองย้อนกลับไป พวกเราอาจตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรกแล้วว่า “ของหรูหรา…นำไปสู่…ความสุขที่ยั่งยืน” มันอาจไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น ของหรูแค่มอบความสะดวกสบายให้เราเฉยๆ ไม่ใช่ปลายทางของความสุข

Image Cr. bit.ly/3uJj09t

อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม

อันที่จริง “คุณภาพของความสัมพันธ์” จากครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน…คนใกล้ตัวเราต่างหาก ที่สำคัญกว่าสิ่งของนอกกายเหล่านี้และไม่มีอะไรมาทดแทนได้ 

คำถามข้อหนึ่งที่ชี้วัดเรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก คือ ถ้าคุณนอนอยู่บนเตียงหายใจรอเวลาใกล้ตายในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

คุณอยาก…“ใช้เวลาอยู่กับสิ่งของหรูหราที่สุดในโลก หรือ ใช้เวลากับคนที่คุณรักมากที่สุดในโลก?”

เชื่อเลยว่าพอถึงเวลานั้น สิ่งของที่หรูหราที่สุดคงไม่มีความหมายสำหรับพวกเราอีกต่อไปแล้ว..

เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้?

คุณ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind  แห่งยุค กล่าวสั้นๆ แต่ตรงที่สุดว่า “ความสุขเป็นเรื่องของภายในมากกว่าภายนอก”

เงินที่หามาได้จะมีความสุขสุดๆ ถึงแค่จุดที่มอบสิ่งพื้นฐานให้เรามีชีวิตรอดเท่านั้น (เช่น มีข้าวกินไม่หิวตาย) อะไรที่เกินเลยไปกว่านั้น เงินที่เพิ่มไม่ได้สอดคล้องกับความสุขที่เพิ่มตามอย่างมีนัยยะสำคัญแล้ว

สมมติว่าคุณเป็นคนจนรายได้น้อย อาชีพของคุณคือผู้ใช้แรงงานรับค่าแรงวันละ 300 บาท หากคุณถูกหวยล็อตใหญ่ได้เงินรางวัล 10 ล้านบาท เงินก้อนจำนวนนี้…เปลี่ยนชีวิตคุณได้

ในทางตรงกันข้าม หากคุณเป็นอภิมหาเศรษฐีหมื่นล้าน คุณถูกหวยล็อตใหญ่ได้เงินรางวัล 10 ล้านบาท เงินจำนวนนี้คงไม่สร้างความแตกต่างอะไรให้กับชีวิตคุณนัก

นอกจากนี้ เวลาซื้อของอย่าดูแค่ตัวสิ่งของ แต่ให้หาเหตุผลอัน ‘ลึกซึ้ง’ ในการซื้อมากกว่าเดิม คุณอาจซื้อเพราะแบรนด์นี้ไม่ทำการทดลองในสัตว์ มีกระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงกับเรา การซื้อด้วยแนวคิดแบบนี้ ช่วยให้เราพึงพอใจและอิ่มเอมใจขึ้นได้

เรื่องของมุมมองก็สำคัญ เปลี่ยน ‘ทัศนคติ’ เป็นว่า ของหรูหราแค่มอบคุณภาพการใช้งานและความสะดวกสบายที่เหนือกว่าในชีวิตเราเท่านั้น แต่มันไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืนในตัวมันเอง ลองมองความสุขในมุมมองใหม่ ความสุขไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็น “ระหว่างทาง” ต่างหาก

อย่ามองข้ามสิ่งที่เป็น “แก่น” ของชีวิตในแบบที่มนุษย์วิวัฒนาการมา: สุขภาพที่ฟิตเปรี๊ยะ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น มิตรภาพเก่าแก่แสนผูกพัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้สึกปลอดภัย(จริงๆ)ในชีวิตและทรัพย์สิน จิตวิญญาณ การอุทิศตนทำเพื่อสังคม

รวมถึงทำ “แบบประเมินอาชีพ” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จาก CareerVisa เพื่อหาสายอาชีพที่ใจเราหลงรักจริงๆ พร้อมมี “ความสุข” กับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

productivity

5 คำแนะนำจากปาก Elon Musk สู่ Ultra Productivity ใน 30 วัน

Productivity คือความสามารถในการทำงานหรือผลิตผลงานได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดจากผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาหรือความพยายามที่ใช้

หัวหน้าที่ดี

วิธีง่าย ๆ สู่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ที่ใคร ๆ ก็รัก

ไม่กลัวลูกน้องเก่งเกินหน้าเกินตา, ฟัง มากกว่า พูด, ชมเชยเมื่อทำดี และ ตำหนิแบบมีชั้นเชิง, ให้เครดิตกับทีม ไม่ใช่กับตัวเอง

นี่คือคุณสมบัติของ “หัวหน้าอันเป็นที่รักของลูกน้อง” ในฐานะหัวหน้างาน…เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นและลูกน้องรักมากขึ้น?

Presentation

Masterful Presentation : วิธีนำเสนอ สำคัญกว่า เนื้อหาที่พูด

1. Steve Jobs หยิบ MacBook Air ออกมาจากซองจดหมาย 2. หน้าสไลด์ที่มีแค่ 3 หัวข้อเท่านั้น 3. ซูชิคำเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างสวยงาม นี่คือตัวอย่างของ Masterful Presentation ศิลปะการนำเสนอขั้นเซียนที่สะกดใจผู้คน